ชำเราเด็ก 13 ปีโดยเด็กยินยอม จะสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2560

ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังเป็นเด็กอายุ 13 ปีเศษ และพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม ที่จำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา จึงไม่เป็นละเมิด จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ…” แสดงว่า กฎหมายคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายยินยอม การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย และมารดาผู้เสียหายย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายได้

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

ในปัจจุบันแม้ “เด็ก” จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่า “เด็ก” ในอดีต แต่กฎหมายก็ยังต้องการคุ้มครองเด็กอยู่เสมอ เพราะเด็กทั้งตามกฎหมายและตามธรรมชาตินั้น มีความรู้สึกนึกคิดรวมทั้งจิตสำนึกน้อยกว่าผู้ใหญ่

จึงอาจมีหลายคนสงสัยว่า “เด็ก” เมื่อถูกข่มขืนโดยความยินยอมหรือเต็มใจร่วมเพศโดยไม่ขัดขืนแล้ว จะถือว่าเป็น “ผู้เสียหาย” และสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “ค่าทำขวัญ” จากการที่ถูกข่มขืนได้หรือไม่

สามารถแยก “เด็ก” ตามกฎหมายออกได้เป็นช่วงอายุ ดังนั้นการจะดูว่าเด็กที่ถูกข่มขืนโดยความยินยอมของตนเองนั้นจะถือว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ ต้องแบ่งออกเป็นช่วงอายุตามที่กฎหมายกำหนด และการข่มขืนเด็กที่แบ่งตามช่วงอายุนี้ก็จะส่งผลต่อผู้เสียหายและจำเลยต่างกันไปตามช่วงอายุด้วย

หากเด็กอายุ 13 ปีถูกข่มขืนโดยเด็กนั้นเองยินยอม จะสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ มีคดีที่เกิดขึ้นจริงที่ถูกตัดสินโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 979/2560 กรณีเด็กอายุ 13 ปี ถูกข่มขืนโดยเด็กให้ความยินยอมแก่จำเลย หรือเรียกได้ว่าเด็กนั้นเองที่สมยอมกับจำเลยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งนี้

ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ว่า แม้เด็กนั้นจะให้ความยินยอมและจะถือว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาขืนใจเด็กนั้นก็ตาม แต่กฎหมายได้บัญญัติกรณีเด็กอายุ 13 ปี ถูกข่มขืนไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าหากเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถูกข่มขืนกระทำชำเรา แม้เด็กนั้นจะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็ยังคงมีความผิดอยู่ดี

แสดงว่ากฎหมายข้อนี้เจตนาคุ้มครองเด็กอายุน้อย ที่อาจมีความรู้สึกนึกคิดน้อยกว่า เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบหรือชักจูงโดยคนอื่นได้

ดังนั้นจากคำพิพากษาศาลฎีกานี้จึงตัดสินให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า แม้เด็กนั้นจะยินยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับจำเลย จนไม่อาจเรียกได้ว่าถูกข่มขืนก็ตาม เด็กนั้นก็ยังคงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายอยู่ดี

และพ่อ แม่ รวมทั้งผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ดูแลเด็กนั้นอยู่ ย่อมเป็นผู้เสียหายด้วย เพราะเหมือนกับว่าเด็กนั้นถูกแยกการดูแลไปจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จนกระทั่งเด็กนั้นถูกข่มขืน ซึ่งผู้ปกครองนั้นไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย ดังนั้นจึงสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

จำเลยไม่สามารถปฏิเสธว่าตัวเองไม่มีความผิดโดยการต่อสู้ว่า เด็กนั้นให้ความยินยอมหรือเต็มใจในการร่วมเพศได้

เพราะกฎหมายปิดปากไม่ให้จำเลยอ้างความยินยอมของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นต่อสู้ แม้การร่วมเพศนั้นจะเกิดจากความยินยอมของเด็กก็ตาม