ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย

กฎหมาย เป็นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ในสังคม กฎหมาย มีลักษณะเป็นคำสั่ง ข้อห้าม ที่มาจากผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมใช้บังคับได้ทั่วไป ใครฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษหรือสภาพบังคับอย่างใดอย่างหนึ่ง

ความจำเป็นในการมีกฎหมาย

กฎหมายเป็นเครื่องควบคุมประพฤติการณ์ในสังคม พัฒนาขึ้นมาจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศาสนา และกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสมาชิกในสังคม กับทั้งเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นเป็นไปโดยราบรื่น สนองความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

ดังภาษิตละตินที่ว่า “ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นมีสังคม ที่ใดมีสังคม ที่นั้นมีกฎหมาย ด้วยเหตุนั้น ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นจึงมีกฎหมาย”

กฎหมายคืออะไร

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่คนเดียวได้ จึงต้องรวมกันอยู่เป็นหมู่เป็นพวก เป็นกลุ่มเป็นก้อน เริ่มจากสังคมเล็ก ๆ ระดับครอบครัว ต่อมาเมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้นก็รวมกันเป็นเผ่าเป็นกลุ่มชนและสุดท้ายเผ่าที่มีสายพันธุ์เดียวกันก็รวมเข้าด้วยกันกลายเป็นกลุ่มชนใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นรัฐ เป็นประเทศ

การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่ต้องมีการติดต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนปัจจัยในการดำรงชีวิต บางครั้งมนุษย์ก็มีความต้องการที่จะทำอะไร ๆ ตามใจตนเองบ้าง ซึ่งการกระทำนั้นอาจเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ จนเกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นมาได้ มนุษย์จึงต้องสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยสงบสุข

กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกว่า บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms)

ประกอบด้วย
1. วิถีชาวบ้าน (Folkways)
เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่อยู่ในรูปของประเพณีนิยม ที่สมาชิกในสังคมปฏิบัติสืบต่อกันมา ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกติฉินนินทาว่าร้าย เช่น การแต่งกาย กิริยามารยาททางสังคมในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น

2. จารีต (Mores)
เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่ยึดหลักความดีความชั่ว กฎเกณฑ์ทางศาสนา เป็นเรื่องของความรู้สึกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก หากใครละเมิดฝ่าฝืนจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิกในสังคมอย่างจริงจัง อาจถูกกีดกันออกจากสังคม หรือไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย เช่น การลักเล็กขโมยน้อย การเนรคุณบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณ เป็นต้น

3. กฎหมาย (Laws)
เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน แน่นอน ว่ากระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานใด จะได้รับอย่างไร เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต เป็นต้น

กฎเกณฑ์ของความประพฤติทั้งสามประการดังกล่าว
– สองประการแรกไม่ได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน การลงโทษผู้ละเมิดฝ่าฝืนก็ไม่รุนแรง
– ประการที่สาม กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ใช้ได้ผลมากที่สุด ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ดังนั้นสังคมมนุษย์ทุกสังคมจึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย เป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันดังคำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย”

ความหมายของกฎหมาย

กฎหมาย หมายถึง คำสิ่งหรือข้อบังคับของรัฐ ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลซึ่งอยู่ในรัฐหรือในประเทศของตน หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะมีความผิดและถูกลงโทษ หรือได้รับผลเสียหายนั้นด้วย

ลักษณะของกฎหมาย

การปกครองประเทศให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยสงบสุขนั้น รัฐจำเป็นจะต้องออกคำสั่ง ข้อบังคับต่าง ๆ มากมาย คำสั่ง ข้อบังคับเหล่านั้นมิได้เป็นกฎหมายทุกฉบับ คำสั่ง ข้อบังคับของรัฐที่จะถือว่าเป็นกฎหมายได้นั้น ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

1. มาจากรัฏฐาธิปัตย์ หมายความว่า
ผู้ที่จะออกกฎหมายได้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ซึ่งจะเป็นใครนั้นต้องแล้วแต่สถานการณ์หรือรูปแบบการปกครองประเทศไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครอง และการออกกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ปัจจุบันเราใช้การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยซึ่งเห็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย และบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจในการออกกฎหมายโดยความเห็นชอบของรัฐสภา ในสถานการณ์ที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศ หัวหน้าคณะปฏิวัติก็มีอำนาจออกกฎหมายได้เพราะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ยังมีประกาศคณะปฏิวัติหลายฉบับที่ยังบังคับใช้เป็นกฎหมายอยู่

2. เป็นคำสั่ง ข้อห้าม ข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม หมายความว่า
กฎหมายไม่ใช่คำขอร้อง หรือแถลงการณ์ เมื่อประกาศใช้แล้วประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตาม ถึงแม้ว่าจะขัดต่อผลประโยชน์หรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องยอมรับจะปฏิเสธไม่ได้ เช่น กฎหมายบังคับให้เสียภาษี บังคับให้ต้องรับราชการทหาร เป็นต้น

3. ใช้ได้ทั่วไป หมายความว่า
กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้ว จะมีผลใช้บังคับได้กับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง คนรวย คนจน ข้าราชการ แม้แต่พระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระราชวงศ์ก็ตาม และใช้ได้ทั่วไปทุกพื้นที่ในอาณาเขตประเทศไทย

4. ใช้ได้เสมอไป หมายความว่า
กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้ว จะมีผลใช้บังคับได้ตลอดไป ไม่ว่าจะเก่าแก่ ล้าสมัย หรือนานเท่าใดก็ตาม จนกว่าจะมีการยกเลิก

5. มีสภาพบังคับ หมายความว่า
กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้ว ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ หรือตกอยู่ในสภาพบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อาจจะหนักบ้าง เบาบ้างแล้วแต่ความผิดในกฎหมายอาญา สภาพบังคับเรียกว่าโทษ มีอยู่ 5 ประการ คือประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์ ในกฎหมายแพ่ง สภาพบังคับขึ้นอยู่กับการกระทำความผิด เช่น บังคับให้ชำระหนี้ ชดใช้ค่าเสียหาย หรือเสียดอกเบี้ย เป็นต้น นอกจากนี้ในกฎหมายอื่น ๆ ก็อาจมีสภาพบังคับอื่น ๆ อีกก็ได้ เช่น ข้าราชการที่ทำผิดวินัย อาจถูกตัดเงินเดือน สั่งพักราชการ ให้ออกปลดออกหรือไล่ออก เป็นต้น

ความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องรู้กฎหมาย

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า กฎหมายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับความประพฤติของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน ทำให้สังคมมีระเบียบ วินัย และสงบเรียบร้อย หากไม่มีกฎหมาย มนุษย์ซึ่งมักจะชอบทำอะไรตามใจตนเอง ถ้าต่างตนต่างทำตามใจและการกระทำนั้นทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ก็จะเกิดปัญหา ความขัดแย้ง มีการล้างแค้นได้โต้ตอบกันไปโต้ตอบกันมาไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่มีกฎหมายเข้าไปจัดการให้ความเป็นธรรม ในที่สุดสังคมนั้นประเทศนั้นก็จะล่มสลายไม่สามารถดำรงอยู่ได้

ปัจจุบันนี้ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็จะต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอดเวลา เช่น เมื่อมีคนเกิดก็ต้องแจ้งเกิด ต้องตั้งชื่อ ต้องเข้าโรงเรียน อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ก็ต้องไปทำบัตรประจำตัวประชาชน นักเรียนที่อายุย่างเข้าปีที่ 18 ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกิน การสมรสอยู่กินเป็นครอบครัว การกู้ยืมเงิน ซื้อขาย การทำสัญญาต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย การรู้กฎหมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน ที่จะได้ทราบถึงของเขตของสิทธิ และหน้าที่ของตน ตลอดจนข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อรู้กฎหมายก็จะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย และไม่ถูกผู้อื่นเอารัดเอาเปรียบโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

การทำผิดกฎหมาย หรือปัญหาข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หรือประชาชนกับข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามเป็นข่าวฟ้องร้องกันไม่เว้นแต่ละวันนั้น มีสาเหตุมาจากความไม่รู้กฎมายทั้งสิน และเมื่อกระทำความผิดแล้วจะกล่าวอ้างแก้ตัวว่าที่กระทำลงไปนั้นเป็นเพราะไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้คนหลุดพ้นจากความรับผิดก็ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่รู้กฎหมายจริง ๆ ก็ตาม

เนื่องจากในทางกฎหมายมีหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งว่า

“ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว”

เพราะถ้าหากว่าให้มีการกล่าวอ้างแก้ตัวได้ ทุกคนก็จะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายกันหมด เพื่อให้คนหลุดพ้นจากความรับผิด ในที่สุดกฎหมายก็จะขาดความศักดิ์สิทธิ์ และบังคับใช้กับใครไม่ได้อีกต่อไป

ระบบของกฎหมาย (Legal System)

ระบบของกฎหมาย หรือตำราบางเล่มเรียกว่า สกุลของกฎหมาย (Legal Family) เป็นความพยายามของนักกฎหมาย ที่จะจับกลุ่มของกฎหมายที่มีใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ ในโลก ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ระบบกฎหมายอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระบบ คือ

1. ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law)

นักกฎหมายบางท่านเรียกว่า ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law) หรือสกุลโรมาโน เยอรมานิค ( Romano Germanic) กฎหมายระบบนี้กำเนิดขึ้นในทวีปยุโรป จากการศึกษาค้นคว้ากฎหมายโรมัน โดยเฉพาะอิตาลีกับเยอรมันซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมโรมัน ถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนากฎหมายระบบนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การศึกษากฎหมายต้องเริ่มจากตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ คำพิพากษาของศาลไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นบรรทัดฐาน แบบอย่างในการตีความกฎหมาย ปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย

2. ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Common Law)
ตำราบางเล่มเรียกว่า กฎหมายจารีตประเพณี กำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษ กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับจารีตประเพณี โดยใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อตัดสินชี้ขาดแล้วก็กลายเป็นหลักการ เมื่อมีคดีความที่มีลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นก็ต้องใช้หลักของคดีแรกเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินชี้ขาด ปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในเครือจักรภพ

3. ระบบกฎหมายประเทศสังคมนิยม (Socialist Law)
เกิดขึ้นและใช้อยู่ในสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศบริวาร เกิดจากความต้องการของนักกฎหมายของประเทศสังคมนิยม ตามปรัชญาของลักทธิมาร์กซ์ ซึ่งความจริงก็คือกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันก็คือ กฎหมายระบบนี้ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในสังคม ให้ความสำคัญเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน โดยรัฐมีอำนาจเข้าไปจัดการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของประชาชนได้ และรัฐเป็นผู้จัดสวัสดิการให้ ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น

4. ระบบกฎหมายศาสนา (Religon Law)
เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ใช้หลักทางศาสนาเป็นแม่บทในการปกครอง เช่น กฎหมายศาสนาอิสลามซึ่งใช้อยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ ข้อบัญญัติศาสนา การพิจารณาตัดสินคดีความก็จะใช้กฎแห่งศาสนาเป็นหลัก

ระบบกฎหมายของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ในระยะแรกกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษ ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมาย และนำเอาหลักกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมาใช้ ต่อมาได้มีการปรับปรุงการศาลยุติธรรมและเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมาย โดยมีการจัดทำประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เป็นฉบับแรก จากนั้นก็มีการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายอื่น ๆ จึงถือได้ว่าประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือระบบประมวลกฎหมาย

ที่มาของกฎหมาย

คำว่า ที่มาของกฎหมาย นักกฎหมายหลายท่านให้ความหมายไว้แตกต่างกัน บางท่านหมายถึงแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมาย บางท่านหมายความถึงแหล่งที่จะค้นพบกฎหมาย หรือบางท่านอาจหมายความถึงศาลหรือผู้ที่จะนำกฎหมายไปปรับใช้กับคดีที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่านักกฎหมายจะมีความเห็นแตกต่างกันออกไป แต่ที่มาของกฎหมายโดยทั่วไปแล้วมีความใกล้เคียงกัน โดยพิจารณาถึงที่มาของกฎหมายหลักสองระบบคือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร และระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ที่มาของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร

1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร
ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นระบบที่สืบทอดมาจากกฎหมายโรมัน ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยถูกต้องตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ก็คือกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น

2. จารีตประเพณี
ในบางครั้งการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร จะให้ครอบคลุมทุกเรื่องเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการนำเอาจารีตประเพณี มาบัญญัติใช้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรด้วย เช่น การชกมวยบนเวที ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกติกา ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่มีความผิด หรือแพทย์ที่ตัดแขนตัดขาคนไข้โดยที่คนไข้ยินยอมก็ไม่มีความผิด เป็นต้น เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการฟ้องร้องคดีเรื่องเหล่านี้เลย ซึ่งคงจะเป็นเพราะจารีตประเพณีที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นเสมือนกฎหมาย

3. หลักกฎหมายทั่วไป
ในบางครั้งถึงแม้จะมีกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายจารีตประเพณี มาใช้พิจารณาตัดสินความแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอครอบคลุมได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีการนำเอาหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งประเทศอื่น ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางกฎหมาย ได้ยอมรับกฎหมายนั้นแล้ว มาปรับใช้ในการพิจารณาตัดสินคดีความด้วย เช่น หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้รับโอน โจทย์พิสูจน์ไม่ได้ต้องปล่อยตัวจำเลย คดีอย่างเดียวกันต้องพิพากษาตัดสินเหมือนกัน ฯลฯ เป็นต้น

ที่มาของกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

1. จารีตประเพณี
ถือว่าเป็นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากกฎหมายระบบนี้เกิดจากการนำเอาจารีตประเพณี ซึ่งคนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมานาน มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ

2. คำพิพากษาของศาล
จารีตประเพณีใดที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความแล้ว ก็จะกลายเป็นคำพิพากษาของศาล ซึ่งคำพิพากษาบางเรื่องอาจถูกนำไปใช้เป็นหลัก หรือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินคดีความต่อ ๆ ไป คำพิพากษาของศาลจึงเป็นที่มาอีกประการหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

3. กฎหมายลายลักษณ์อักษร
ในสมัยต่อ ๆ มาบ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่จะรอให้จารีตประเพณีเกิดขึ้นย่อมไม่ทันกาล บางครั้งจึงจำเป็นต้องสร้างกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาใช้ด้วย

4. ความเห็นของนักนิติศาสตร์
ระบบกฎหายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังยอมรับความเห็นของนักนิติศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการตัดสินคดีความด้วย เพราะนักนิติศาสตร์เป็นผู้ที่ศึกษากฎหมายอยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิด มีเหตุผล ความเห็นของนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสสียงและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ย่อมมีน้ำหนักพอที่จะนำไปใช้อ้างอิงในการพิจารณาตัดสินความได้

5 .หลักความยุติธรรมหรือมโนธรรมของผู้พิพากษา
ในระยะหลังที่บ้านเมืองเจริญขึ้นสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป การใช้จารีตประเพณีและคำพิพากษาก่อน ๆ มาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความอาจไม่ยุติธรรม จึงเกิดศาลระบบใหม่ขึ้น ซึ่งศาลระบบนี้จะไม่ผูกมัดกับจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาของศาลเดิม แต่จะยึดหลักความยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี ซึ่งเรียกว่ามโนธรรมของผู้พิพากษา(Squity) ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ประเภทของกฎหมาย

การแบ่งประเภทของกฎหมาย อาจแบ่งได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับผู้แบ่งว่าจะใช้อะไรเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะแบ่งอย่างคร่าว ๆ ก่อนโดยแบ่งกฎหมายออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1.กฎหมายภายใน ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยองค์กรที่มีอำนาจภายในรัฐหรือประเทศ

2. กฎหมายภายนอก ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นจากสนธิสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ

กฎหมายภายใน และกฎหมายภายนอก ยังอาจแบ่งย่อยได้อีกหลายลักษณะ ตามหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

กฎหมายภายใน

แบ่งได้หลายลักษณะตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ใช้เนื้อหาของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์การแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.1 กฎหมายลายลักษณ์อักษร
ได้แก่ ตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยองค์กรที่มีอำนาจตามกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติต่าง ๆ ฯลฯ เป็นต้น

1.2 กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
ได้แก่ จารีตประเพณีต่าง ๆ ที่นำมาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่มาของกฎหมาย ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรค 2 ว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่จะยกมาปรับแก้คดีได้ ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น”

2. ใช้สภาพบังคับกฎหมายเป็นหลักในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ

2.1 กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญา
ได้แก่ กฎหมายต่าง ๆ ที่มีโทษตามบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร ฯลฯ เป็นต้น

2.2 กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง
สภาพบังคับทางแพ่งมิได้มีบัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนสภาพบังคับทางอาญา แต่ก็อาจสังเกตได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การบังคับชำระหนี้ การชดใช้ค่าเสียหาย หรืออาจสังเกตได้อย่างง่าย ๆ คือ กฎหมายใดที่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญา ก็ย่อมเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง

3. ใช้บทบาทของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ

3.1 กฎหมายสารบัญญัติ
ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของความผิดโดยทั่วไปแล้วกฎหมายส่วนใหญ่ จะเป็นกฎหมายสารบัญญัติ

3.2 กฎหมายวิธีสบัญญัติ
ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการที่จะนำกฎหมายสารบัญญัติไปใช้ว่าเมื่อมีการทำผิดบทบัญญัติกฎหมาย จะฟ้องร้องอย่างไร จะพิจารณาตัดสินอย่างไร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ กฎหมายวิธีสบัญญัติก็คือ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการเอาตัวผู้กระทำผิดไปรับสภาพบังคับนั่นเอง เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลแขวง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น

4. ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ

4.1 กฎหมายเอกชน
ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยที่รัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด เป็นต้น

4.2 กฎหมายมหาชน
ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ในฐานะที่รัฐเป็นผู้ปกครอง จึงต้องมีอำนาจบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุข เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติป้องกัน การค้ากำไรเกินควร หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความต่าง ๆ เป็นต้น

หลักการใช้กฎหมาย

กฎหมายเป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้นตามหลักวิชาในทางนิติศาสตร์ เพื่อใช้บังคับแก่บุคคลเป็นการทั่วไป โดยหลักจึงพยายามใช้ถ้อยคำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย แต่บางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ภาษากฎหมายหรือภาษาเทคนิคโดยเฉพาะ ผู้ใช้กฎหมายจึงควรทำความเข้าใจกับหลักการร่างกฎหมายและการใช้ภาษาในกฎหมายโดยทั่วไป เพราะสามารถช่วยให้เข้าใจความหมายของบทกฎหมายได้ดียิ่งขึ้น

1. การแปลความหมายของบทบัญญัติ
เพื่อให้ทราบว่ากฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร เป็นสิ่งสำคัญเพราะกฎหมายจะกำหนดสิทธิ หน้าที่ของบุคคล และสภาพบังคับแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไว้ การแปลความหมายของบทบัญญัติสามารถกระทำได้โดยการทำความเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายด้วยการอ่านกฎหมายทั้งฉบับ

2. การใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริง มีสองประการ คือ

– การใช้กฎหมายทางทฤษฎี
– การใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ

การใช้กฎหมายในทางทฤษฎี เป็นเรื่องของหลักวิชาเพื่อใช้ในการบัญญัติกฎหมาย โดยต้องพิจารณาถึงของเขตการบังคับใช้กฎหมาย เช่น บุคคล สถานที่ และวันเวลาที่เกี่ยวข้อง ประเภทและลำดับศักดิ์ของกฎหมาย ตลอดจนอำนาจในการตรากฎหมายการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ เป็นเรื่องของการใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่องในชีวิตประจำวัน

3. การใช้กฎหมายในทางปฏิบัติเป็นเรื่องซึ่งหาหลักเกณฑ์ได้ยาก เพราะบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคนต่างเป็นผู้ใช้กฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งมักใช้กฎหมายตามความรู้ ความเข้าใจของตน นอกจากนี้ตัวบทกฎหมายเองก็อาจมีความบกพร่อง จึงอาจนำไปสู่ปัญหาการใช้กฎหมาย ได้แก่ปัญหาการตีความกฎหมาย หรือการเกิดช่องว่างของกฎหมายได้
การอ่านและการเข้าใจกฎหมาย

เนื่องจากผู้ใช้กฎหมาย หมายถึงบุคคลทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนั้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น เจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือตำรวจ ตลอดจนผู้ดำเนินคดีหรือวินิจฉัยข้อกฎหมายหรือชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เช่น นิติกร ทนายความ อัยการ หรือศาล ซึ่งแต่ละฝ่ายอาจมีความเข้าใจหลักการพื้นฐานของบทกฎหมายหรือแปลความกฎหมายไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยให้เกิดปัญหาในการใช้กฎหมายน้อยลง หรือหากเกิดปัญหาจะต้องตีความกฎหมายหรืออุดช่องว่างของกฎหมายก็จะสามารถกระทำได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม

การแปลความหมายของบทบัญญัติ

การแปลความหมายบทบัญญัติของกฎหมายกระทำไป เพื่อให้ได้ความว่าบทกฎหมายนั้นมีข้อ กำหนด ให้ใครต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อได อย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษหรือไม่ อย่างไร หรือหากทำจะได้รับสิทธิประโยชน์หรือได้รับผลดีอย่างไร มีหลักเบื้องต้นคือควรทำความเข้าใจภาพรวมของกฎหมายและหาความหมายของบทบัญญัติรายมาตรา โดยการอ่านกฎหมายประกอบกันทั้งฉบับ มิใช่เฉพาะมาตราใดมาตราหนึ่ง

การใช้บทบัญญัติกับข้อเท็จจริง

หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับหนึ่งพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนั้นบ่อยครั้ง จึงได้มีการศึกษาข้อบกพร่องของกฎหมายและเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเช่นนี้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นต้องใช้กฎหมายในทางทฤษฎีหรือในทางปฏิบัติ

เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นต้องใช้กฎหมายทั้งในทางทฤษฎี และในทางปฏิบัติโดยการจะทราบว่ามีผู้ฝ่าฝืนหรือไม่เป็นการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ เพราะต้องทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้ จากนั้นต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับกฎหมายเพื่อให้ทราบผลว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ และยังมีการใช้กฎหมายในทางทฤษฎีเมื่อมีการเสนอแก้ไขกฎหมายเพราะต้องมีการพิจารณาว่า กฎหมายนั้นยังควรมีขอบเขตการใช้บังคับกับบุคคล ในเวลา หรือสถานที่ หรือมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเช่นเดิมหรือไม่ หรือควรจะมีการแก้ไขใหม่อย่างไร หรือควรยกเลิกกฎหมายนั้นเสียก็ได้

ปัญหาการใช้กฎหมาย

ปัญหาการตีความกฎหมายและช่องว่างในกฎหมายเกิดขึ้นเมื่อใด ปัญหาทั้งสองกรณีมีความเกี่ยวข้องกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ปัญหาการตีความกฎหมายเกิดขึ้นเมื่อมีกฎหมายจะนำมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริง แต่บทบัญญัติของกฎหมายนั้นยังมีความไม่ชัดเจน กำกวม หรือเคลือบคลุม จึงต้องมีการตีความเพื่อหาความหมายที่แท้จริง ส่วนช่องว่างในกฎหมายเกิดขึ้นเมื่อไม่มีบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะนำมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริง

ปัญหาทั้งสองกรณีอาจมีความเกี่ยวข้องกันได้ เพราะบางครั้งอาจมีการตีความกฎหมายผิดพลาด โดยคิดว่าเกิดช่องว่างในกฎหมายเพราะไม่มีบทกฎหมายจะนำมาปรับใช้ แต่ที่จริงแล้วมี เพียงแต่กฎหมายนั้นไม่ชัดเจนซึ่งเป็นปัญหาการตีความกฎหมายตามธรรมดา หรือคิดว่าสามารถนำบทกฎหมายซึ่งนำมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงได้ แต่ที่จริงแล้วใช้ไม่ได้ และไม่มีบทกฎหมายอื่นที่จะนำมาใช้ได้ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดปัญหาช่องว่างในกฎหมายเป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าการตีความกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า กรณีนั้นๆ เกิดปัญหาในลักษณะใด และจะนำไปสู่การปรับใช้กฎหมายแก่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อไป

การตีความกฎหมาย

1. การตีความกฎหมายคือ การค้นหาความหมายของบทกฎหมายที่เคลือบคลุม ไม่ชัดเจน หรืออาจแปลความได้หลายนัย เพื่อนำกฎหมายนั้นมาใช้ปรับกับข้อเท็จจริง

2. การตีความกฎหมายต้องอาศัยหลักวิชา ความรู้หลายแขนง รวมทั้งประสบการณ์และสามัญสำนึกด้วย อาจแยกได้เป็น 2 ประการ คือ การตีความตามลายลักษณ์อักษร และการตีความตามเจตนารมณ์

3. การตีความตามลายลักษณ์อักษรคือ การหยั่งทราบความหมายของถ้อยคำจากตัวอักษรของบทกฎหมายนั้นเอง โดยวิธีการต่างๆ เช่น การหาความหมายตามธรรมดาของถ้อยคำ การหาความหมายจากภาษาเทคนิคหรือภาษาทางวิชาการ หรือจากความหมายพิเศษ

4. การตีความตามเจตนารมณ์ คือการหยั่งทราบความหมายของถ้อยคำในบทกฎหมายจากจากเจตนารมณ์ หรือความมุ่งหมายของกฎหมายนั้น โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ ทั้งจากตัวกฎหมายนั้นเอง หรือสิ่งที่อยู่ภายนอกกฎหมาย

หลักการตีความกฎหมาย

การตีความกฎหมายตามหลักวิชามี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การตีความตามลายลักษณ์อักษรหรือตามตัวอักษร และการตีความตามเจตนารมณ์ หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติ จะนำมาใช้เมื่อเกิดปัญหาความไม่ชัดเจน เคลือบคลุม หรือกำกวมของถ้อยคำ หากกฎหมายมีความชัดเจนอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีการตีความ ในการตีความอาจใช้หลักเกณฑ์ใดหลักเกณฑ์หนึ่งก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักใช้การตีความตามตัวอักษรกับการตีความตามเจตนารมณ์ประกอบกัน เพื่อช่วยให้หยั่งทราบหรือค้นหาความหมายของบทบัญญัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมหรือเป็นธรรมมากที่สุด

การตีความตามลายลักษณ์อักษร

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตามมาตรา 10 วรรคสอง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 121 และมาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี” ให้อธิบายว่าบทบัญญัตินี้มีความหมายว่าอย่างไร อาจมีประเด็นการตีความถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรตรงถ้อยคำใดบ้าง และจะสามารถค้นหาความหมายของถ้อยคำนั้นได้จากที่ใด

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นตัวอย่างของกฎหมายที่มีการเขียนบทบัญญัติในเชิงเทคนิคทางกฎหมายฉบับหนึ่ง เมื่อพิจารณาดูกฎหมายทั้งฉบับอย่างคร่าวๆ แล้วจะเห็นว่าการใช้นิยามศัพท์และการอ้างอิงถึงมาตราอื่นค่อนข้างมาก เมื่ออ่านเฉพาะมาตรา 9 วรรคแรก ในเบื้องต้นจะพอเข้าใจได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดชอบของนายจ้างในกรณีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในประการสำคัญคือการไม่จ่ายเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้แก่ลูกจ้างดังนี้
(1) เงินประกัน หรือ
(2) ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด หรือ
(3) ค่าชดเชย หรือค่าชดเชยพิเศษ

ซึ่งหากนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างตามกำหนด กฎหมายกำหนดสภาพบังคับประการหนึ่งให้นายจ้างคือต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

บทบัญญัตินี้อาจมีประเด็นการตีความถ้อยคำแทบจะทุกถ้อยคำที่ปรากฏเช่น “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” “เงินประกัน” “ค่าจ้าง” “ค่าล่วงเวลา” “ค่าทำงานในวันหยุด” “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” “ค่าชดเชย” “ค่าชดเชยพิเศษ” “ผิดนัด” “ภายในเวลาที่กำหนด” หรือ “ดอกเบี้ย” ซึ่งต้องมีการค้นหาความหมายจากตัวบทกฎหมายที่ปรากฏก่อน หากพบแล้วก็ถือว่าไม่มีปัญหาการตีความ แต่หากยังยีข้อสงสัยอยู่จะนำมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ก็ต้องใช้หลักการตีความต่างๆ ตีความตามถ้อยคำนั้นต่อไป จนกว่าจะได้ความหมายที่เห็นว่าถูกต้องเหมาะสม
ประเด็นที่ยกตัวอย่างขึ้นมาตีความ อาจแยกถ้อยคำที่อาจมีปัญหาต้องตีความออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือถ้อยคำที่อาจหาความหมายได้จากตัวบทกฎหมายฉบับนี้เอง และกลุ่มที่สองคือถ้อยคำที่ไม่สามารถหาความหมายโดยตรงจากกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งอาจต้องค้นหาความหมายโดยใช้เครื่องมืออย่างอื่นมาช่วย ดังนี้

กลุ่มแรก ได้แก่ถ้อยคำซึ่งมีนิยามศัพท์ไว้ในตัวพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ เช่นคำว่า “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” “ค่าจ้าง” “ค่าล่วงเวลา” “ค่าทำงานในวันหยุด” “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” “ค่าชดเชย” “หรือค่าชดเชยพิเศษ” ซึ่งก็สามารถหาความหมายได้จากนิยามศัพท์ดังกล่าวโดยเฉพาะ

นอกนี้ยังมีถ้อยคำอื่นที่ไม่มีนิยามศัพท์ไว้แต่อาจหาความหมายได้ระดับหนึ่งจากมาตราอื่นที่อ้างอิงถึง เช่นคำว่า “เงินประกัน” ซึ่งอ้างอิงอยู่ในเงินประกันตามมาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งเมื่ออ่านเนื้อความตามมาตราดังกล่าวแล้วจะได้มาเพิ่มเติมว่าเงินประกันนั้นเป็นเงินที่นายจ้างเรียกหรือรับหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ หรือคำว่า “ภายในเวลาที่กำหนด” เป็นกำหนดเวลาที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งมีการอ้างอิงถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 70 ซึ่งมาตราดังกล่าวก็ได้มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้าง ฯลฯ ไว้เป็นต้น

กลุ่มที่สอง ได้แก่ถ้อยคำเช่น คำว่า “ผิดนัด” ซึ่งไม่มีนิยามศัพท์ไว้ในตัวพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งคำนี้ หลักกฎหมายเรื่องหนี้ ตาม ป.พ.พ. แล้วจะทราบว่าเป็นศัพท์ที่กฎหมายมีบัญญัติ เช่น มาตรา 204 แห่ง ป.พ.พ. อธิบายความหมายกรณีลูกหนี้ผิดนัดไว้ว่า หมายถึงการที่หนี้ถึงกำหนดชำระแล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เช่น เงินกู้เขามา เมื่อถึงกำหนดจ่ายคืนแล้วไม่ยอมจ่าย ซึ่งแยกเป็น 2 กรณีคือ ถ้าหนี้นั้นไม่ได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้ลูกหนี้จะผิดนัดก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้เตือนให้ชำระหนี้แล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ กับอีกกรณีหนึ่งคือ มีการกำหนดวันชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินไว้ หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามวันที่กำหนดก็ถือว่าผิดนัดทันที โดยเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องเตือนก่อน

เมื่อทราบความหมายของคำว่า “ผิดนัด” ก็ให้ไปพิจารณามาตรา 9 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯอีกครั้งว่านายจ้าง (ซึ่งถือว่าเป็นลูกหนี้ในกรณีนี้เพราะมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง) จะผิดนัดเมื่อใด โดยพิจารณาประกอบกับความหมายคำว่า “ภายในเวลาที่กำหนด” ที่ได้ค้นหาความหมายไว้แล้ว หากข้อเท็จจริงนายจ้างไม่จ่ายเงินให้ลูกจ้าง (หรือมาตรา 204 ป.พ.พ. เรียกว่าเป็นการ “ไม่ชำระหนี้”) ภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว ก็ถือว่านายจ้างผิดนัด ก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดนั้นร้อยละสิบห้าต่อปี

ประเด็นที่อาจจะเป็นข้อสงสัยซึ่งต้องมีการตีความต่อไปอีก เช่น หากนายจ้างจ่ายเงินเป็นเช็คหรือเป็นตราสารอื่นเช่นนี้ จะถือว่านายจ้างได้จ่ายเงินแล้วหรือไม่ เพราะในเวลาที่ลูกจ้างนำเช็คไปขึ้นเงิน อาจไม่มีเงินในบัญชี หรือที่เรียกว่าเช็คเด้ง ซึ่งก็ต้องตีความกันต่อไปว่า การจ่ายเงินของนายจ้างด้วยวิธีดังกล่าวถือเป็นการจ่ายเงินให้ลูกจ้างแล้วหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น

การตีความตามเจตนารมณ์

มีประเด็นการตีความว่า “รถเข็นโรตี” จะอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ซึ่งบัญญัติกรณีผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงคือจำเลยได้เข็นรถขายโรตีไปตามไหล่ถนนและถูกรถจักรยานยนต์ที่ผู้อื่นขับตามหลังมาเฉี่ยวชน เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย โดยจำเลยหลบหนีไปไม่ให้ความช่วยเหลือ และในเรื่องนี้มีการกำหนดความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องดังนี้

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(15) บัญญัตินิยามคำว่า “รถ” ว่าหมายถึงยานพาหะนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนดความหมายของคำว่า “ยาน” คือเครื่องนำไป พาหนะต่างๆ เช่นรถ เกวียน เรือ

คำว่า “พาหนะ” คือเครื่องนำไป เครื่องขับขี่ยานต่างๆ มีรถและเรือ เป็นต้นเรียกว่ายานพาหนะ และ

คำว่า “ขับ” คือ บังคับให้เคลื่อนไป เช่นขับรถ ขับเรือ

ให้พิจารณาตามหลักการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่ารถเข็นโรตีจะอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 หรือไม่ ด้วยเหตุด้วยผล

กรณีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4445/2543 ซึ่งศาลฎีกาตีความกฎหมาย ดังนี้

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(15) บัญญัตินิยามคำว่า “รถ” ไว้ว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง ทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กำหนดความหมายของคำว่า “ยาน” คือ เครื่องนำไป พาหนะต่างๆ เช่นรถ เกวียน เรือ คำว่า “พาหนะ” คือเครื่องนำไป เครื่องขับขี่ คือ บังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือ ดังนี้ “รถเข็น” ของจำเลยเป็นเพียงวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพขายโรตี มิใช่ด้วยเจตนามุ่งประสงค์ในอันที่จะขนเคลื่อนบุคคลหรือทรัพย์สินใดจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในลักษณะของยานพาหนะ จึงมิใช่ “รถ” ตามความหมายที่บัญญัตินิยามไว้ดังกล่าว และย่อมไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 (แต่จำเลยต้องรับผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ตาม ปอ มาตรา 129 ฐานกระทำโดยประมาทให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย)

ซึ่งเห็นได้ว่าศาลฎีกาได้นำความหมายจากนิยามศัพท์คำว่า “รถ” ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาพิจารณาในชั้นแรก แต่เนื่องจากนิยามนั้นเองยังมีความไม่ชัดเจนว่า “ยานพาหนะ” หมายความว่าอย่างไรจึงได้นำความหมายตามพจนานุกรมมาใช้ประกอบ จึงเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การอุดช่องว่างในกฎหมาย

1. เมื่อเกิดช่องว่างในกฎหมาย คือการที่ไม่มีบทกฎหมายจะยกมาปรับแก่คดีได้ในทางแพ่งและพาณิชย์ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรือโดยอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือตามหลักกฎหมายทั่วไปตามลำดับ

2. การอุดช่องว่างโดยจารีตประเพณี เป็นการพิจารณาว่าในกรณีที่ไม่มีกฎหมายจะนำมาใช้บังคับนั้น ในท้องถิ่นที่เกิดคดีมีจารีตประเพณี ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นกรอบปฏิบัติของกลุ่มชนในเรื่องนั้นหรือไม่ ถ้าหากมี ให้วินิจฉัยไปตามนั้น

3. การอุดช่องว่างโดยเทียบเคียงกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายและจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จะนำมาใช้บังคับก็ให้นำบทกฎหมายที่บัญญัติไว้สำหรับข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกันมาใช้วินิจฉัยแก่คดี

4. การอุดช่องว่างโดยหลักกฎหมายทั่วไป เป็นกรณีที่ไม่มีทั้งกฎหมาย จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นและกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งจะนำมาใช้บังคับ ก็ให้นำหลักกฎหมายทั่วไป ได้แก่หลักกฎหมายที่ได้สกัดได้จากเรื่องเฉพาะเรื่องหลายเรื่อง หลักกฎหมายที่ใช้กันจนเป็นหลักสากล หรือสุภาษิตกฎหมาย เป็นต้น มาใช้วินิจฉัยแก่คดี

5. กฎหมายบางประเภท เช่น กฎหมายอาญามีหลักการตีความไว้โดยเฉพาะ ไม่สามารถใช้หลักการอุดช่องว่างของกฎหมายในทางแพ่งนี้ได้หรือหากกฎหมายอื่นได้กำหนดวิธีอุดช่องว่างของกฎหมายไว้โดยเฉพาะ ก็ให้ใช้วิธีอุดช่องว่างตามกำหนดไว้นั้น

การอุดช่องว่างโดยจารีตประเพณี
จารีตประเพณีที่จะนำมาปรับแก่คดีได้ จะต้องมีลักษณะอย่างไร
จารีตประเพณีที่จะนำมาปรับแก่คดีได้ จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ต้องใช้บังคับมาเป็นเวลานาน
(2) ต้องเป็นที่ยอมรับและถือตามของมหาชนทั่วไป
(3) ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย
(4) ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

การอุดช่องว่างโดยเทียบเคียงกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง
ในการค้นหาบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งเพื่อมาปรับใช้แก่กรณีผู้อุดช่องว่างในกฎหมายควรต้องมีคุณลักษณะสำคัญอย่างไร

เนื่องจากกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งคือบทกฎหมายที่บัญญัติไว้สำหรับข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกันกับ เรื่องที่เป็นประเด็นปัญหา ดังนั้น ผู้อุดช่องว่างในกฎหมายซึ่งต้องค้นหาบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง จึงควรมีคุณสมบัติสำคัญ คือควรศึกษาหลักกฎหมายในเรื่องต่างๆ ให้แตกฉานว่า กฎหมายแต่ละลักษณะมีหลักการสำคัญอย่างไร และนำมาใช้ในกรณีใดบ้าง เพราะบ่อยครั้งที่กฎหมายมีลักษณะเบื้องต้นใกล้เคียงกันมาก เช่นการซื้อขายเงินผ่อน และการเช่าซื้อซึ่งมีการนำทรัพย์สินที่ตกลงทำนิติกรรมกันมาใช้ได้ก่อนและมีการชำระราคากันเป็นงวดเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันที่การโอนกรรมสิทธิ์ โดยการซื้อขายเงินผ่อน กรรมสิทธิ์จะโอนมายังผู้ซื้อทันที แต่การเช่าซื้อกรรมสิทธิ์จะโอนมายังผู้เช่าซื้อต่อเมื่อได้ชำระเงินครบตามงวดที่ตกลงกันไว้

การเข้าใจหลักกฎหมายจะช่วยให้ทราบว่าในเรื่องนั้น ๆ มีกฎหมายที่จะนำมาปรับใช้โดยตรงหรือไม่ หากไม่มี จะมีบทกฎหมายใดที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้บ้าง ซึ่งจะสามารถนำมาปรับใช้แก้ข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหานั้นได้อย่างเหมาะสม

การอุดช่องว่างโดยกฎหมายทั่วไป
การอุดช่องว่างโดยใช้หลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายแพ่งฯ และกฎหมายอาญามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

การอุดช่องว่างโดยใช้หลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายแพ่งฯ และกฎหมายอาญามีความเหมือนกันคือ ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายหรือจารีตประเพณีมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงได้ ผู้ใช้กฎหมายอาจอุดช่องว่างในกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมหรือเป็นคุณแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ แต่การอุดช่องว่างในกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญามีความต่างกันคือ ตามกฎหมายอาญาจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นการลงโทษแก่บุคคลหรือให้เป็นการลงโทษหนักขึ้นไม่ได้