ผู้จัดการมรดกทราบที่อยู่ทายาท แต่ประสงค์จะแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์อย่างเดียว ได้หรือไม่?

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้

ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

อธิบายกฎหมาย

ผู้จัดการมรดกทราบที่อยู่ทายาท แต่ประสงค์จะแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์อย่างเดียว ได้หรือไม่?

การตั้งเรื่องต่อศาลเพื่อฟ้องคดีหรือเพื่อต้องการให้ศาลรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนบางอย่าง กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า สามารถทำได้เป็นคำฟ้อง คือการที่มีคู่กรณีในคดีเป็นฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย และอีกกรณีหนึ่งคือการยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลรับรองหรือคุ้มครองตามสิทธิที่ตนเองต้องการให้ศาลรับรองให้ ตามกฎหมายเรียกว่าเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท

คดีไม่มีข้อพิพาทนี้เริ่มต้นจากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาและสั่งตามที่ตัวเองต้องการโดยคำร้องประเภทนี้ก็อาจกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทขึ้นมาได้ หากมีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยหรือไม่ต้องการให้ศาลสั่งตามที่ผู้ร้องขอ

โดยผู้คัดค้านจะต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีที่ศาลจะสั่งตามคำร้องของผู้ร้องนั้น และเข้ามาในคดีโดยยื่นเป็นคำคัดค้านเข้ามาในคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

ตามคำพิพากษาฎีกานี้ เป็นกรณีที่ผู้ร้องต้องการให้ศาลมีคำสั่งว่าตนเองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ถึงแม้จะตั้งรูปเรื่องมาเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทก็ตาม

แต่เป็นกรณีเกี่ยวกับเรื่องสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว กฎหมายถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่าจะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ไม่มีคู่กรณีในคดีก็ตาม และกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องส่งคำร้องให้ใครทราบแต่อย่างใดก็ตาม

แต่เมื่อเป็นคดีสำคัญ การที่ศาลจะสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล และสิทธิในครอบครัว จึงเป็นเรื่องสำคัญ และผู้ร้องเองก็ทราบว่าผู้ตายมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว และยังทราบที่อยู่ของผู้จัดการมรดกด้วย

ผู้ร้องจึงสามารถส่งคำร้องเพื่อให้ผู้จัดการมรดกของผู้ตายทราบได้ด้วยวิธีธรรมดาตามที่กฎหมายกำหนดได้ คือการส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้จัดการมรดกหรือหากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้ศาลปิดหมายไว้ที่บ้านนั้นได้

แต่ผู้ร้องกลับขอให้ศาลส่งคำร้องให้ผู้จัดการมรดกทราบด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นการส่งคำร้องให้โดยวิธีอื่น ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นการยากที่ผู้จัดการมรดกและทายาทจะรู้ได้ว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาล

เมื่อปรากฏว่าผู้จัดการมรดกไม่ทราบว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้อง จึงทำให้ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อน จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดในข้อที่เกี่ยวกับความมุ่งหมายของกฎหมายด้านความยุติธรรม

ดังนั้นศาลฎีกาจึงตัดสินว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องส่งคำร้องด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย