โน้มน้าวขอร้องให้ไปฆ่าคน 2 คนและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสองมาด้วย เป็นความผิดกี่กรรม?

ประมวลกฎหมายอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2562

แม้คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. จะระบุว่า จำเลยพูดขอร้อง จ. ว่าจำเลยจะทำอย่างไรดีช่วยจำเลยด้วย ซึ่งหากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสองแล้วจำเลยก็น่าจะพูดในทำนองขอร้องให้ จ. ไปทำร้ายผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นการเพียงพอแล้ว มิใช่พูดทำนองให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองเมื่อใดก็ได้ ถ้อยคำที่ จ. เล่าให้พนักงานสอบสวนฟังและพนักงานสอบสวนบันทึกลงในคำให้การดังกล่าว พอแปลได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาที่จะให้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสอง ไม่ใช่เป็นการปรับทุกข์หรือปรึกษาหารือระหว่างจำเลยกับ จ. ในฐานะคนคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันแต่อย่างใด แต่เป็นการพูดจาในลักษณะหว่านล้อม โน้มน้าวขอร้องโดยมีความประสงค์ที่จะให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสอง อันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองและชิงทรัพย์ไปในลักษณะต่อเนื่องคราวเดียวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของ จ. ว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองเพื่อประสงค์ต่อผลในการฆ่าผู้ตายทั้งสองและประสงค์จะเอาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองไปเพื่อเป็นค่าดำเนินการด้วย ตามที่จำเลยแจ้งต่อ จ. ว่าจะต้องฆ่าผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน และผู้ตายทั้งสองมีทรัพย์สินอยู่ในที่เกิดเหตุสามารถชิงไปได้ มิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 1 และชิงทรัพย์ไป แล้วเกิดเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 2 แล้วชิงทรัพย์ ขึ้นภายหลังเพิ่มขึ้นอีก ลักษณะเจตนาในการกระทำความผิดจึงเป็นอันเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

โน้มน้าวขอร้องให้ไปฆ่าคน 2 คน และชิงทรัพย์ผู้ตายทั้ง 2 มาด้วย เป็นความผิดกี่กรรม?

ความผิดตามกฎหมายสามารถแบ่งเป็นแยกออกเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว หรือหลายกรรมได้ ซึ่งการแตกต่างทั้ง 2 อย่างนี้ ส่งผลในทางกฎหมายที่ต่างกันออกไป ดังนั้นในการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม จึงจำเป็นต่อคดีนั้นๆ ด้วย

ดังนั้นในการพิจารณาคดีของศาล ศาลจึงต้องตัดสินเสียก่อนว่าการกระทำความผิดของจำเลยนั้น เป็นความผิดกรรมเดียวหรือเป็นความผิดหลายกรรม

เพราะความผิดหลายกรรมศาลย่อมลงโทษความผิดแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน และสั่งให้นับโทษต่อกันเท่านั้น แต่ความผิดกรรมเดียวคือความผิดที่เกิดจากการกระทำในครั้งเดียวกัน และศาลก็ตัดสินให้ต้องรับโทษครั้งเดียวเท่านั้น

กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ เป็นการที่จำเลยพูดชักจูงยุยงและเป็นการใช้หรือวานให้ จ ไปฆ่าผู้ตายทั้ง 2 ซึ่งไม่ใช่การพูดตัดพ้อหรือปรึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพูดเชิงวานหรือใช้ให้ จ ไปฆ่าผู้ตายทั้ง 2 เพื่อจำเลย และไม่ใช่เป็นการพูดเพื่อให้ไปทำร้ายร่างกายผู้ตายทั้ง 2 เท่านั้น

การกระทำเช่นนี้จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ให้ จ กระทำความผิดแล้ว

จากนั้นจำเลยยังพูดต่ออีกว่าจำเป็นต้องฆ่าผู้ตายทั้ง 2 พร้อมกัน เพราะเป็นสามีและภรรยากัน และทั้งคู่มีทรัพย์สินอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย จ สามารถชิงทรัพย์สินนั้นมาเมื่อฆ่าผู้ตายทั้ง 2 ได้ด้วย

กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินไว้แล้วว่า จำเลยมีเจตนาใช้ให้ จ ไปดำเนินการฆ่าผู้ตายทั้ง 2 ส่วนเรื่องเอาทรัพย์สินของผู้ตายทั้ง 2 มา เป็นเรื่องที่เป็นผลพลอยได้จากการฆ่าผู้ตายทั้ง 2 แล้ว แต่เจตนาหลักคือการฆ่าผู้ตายทั้ง 2 และก็มีการเอาทรัพย์สินนั้นมาถือว่าเป็นค่าดำเนินการของ จ

ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่ใช่การที่จำเลยต้องการฆ่าผู้ตายที่ 1 และจึงเกิดความต้องการเอาทรัพย์ และจากนั้นก็ไม่ได้ต้องการฆ่าผู้ตายที่ 2 และเกิดความต้องการในการเอาทรัพย์สินของผู้ตายที่ 2 อีก

แต่เป็นเจตนาแรกที่หวังว่าต้องการฆ่าผู้ตายทั้ง 2 และจากนั้นจึงชิงทรัพย์หรือเอาทรัพย์นั้นมาเป็นของตนตามที่หวังไว้ตั้งแต่แรกแล้ว

การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะเป็นความผิดที่หวังว่าจะก่อให้เกิดขึ้นในครั้งเดียว ไม่ใช่เจตนาแรกสำเร็จแล้วจึงวางแผนทำผิดในครั้งหลังอีกไม่

ดังนั้นเมื่อเป็นความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ผลก็คือให้ลงโทษคราวเดียวแต่ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงแก่จำเลยตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเอง