ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้ นาย ก. โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาท จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรม นาย ก. ได้หรือไม่?

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้

แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้ นาย ก. โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาท จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรม นาย ก. ได้หรือไม่?

การฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนการทำนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย มีกฎหมายบัญญัติอายุความการฟ้องร้องไว้เป็นการเฉพาะแล้ว คือทายาทต้องฟ้องร้องเกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายไม่เกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

ซึ่งคำว่าการจัดการทรัพย์มรดกสิ้นสุดลงไม่ได้หมายความว่าให้เริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แต่ให้นับตั้งแต่ผู้จัดการมรดกได้จัดการทรัพย์สินต่างๆ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากผู้ตายเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือการจัดการทรัพย์มรดกชิ้นสุดท้ายเรียบร้อยลงนั่นเอง จึงจะเริ่มต้นนับอายุความฟ้องร้องในเรื่องการจัดการมรดกห้ามเกินห้าปี

และการฟ้องร้องเกี่ยวกับการจัดการมรดกต้องเป็นผู้ที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะด้วย คือต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดกหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น ดังนั้นผู้อื่นหรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกจึงไม่สามารถฟ้องร้องได้

ส่วนผู้จัดการมรดกจะเป็นคนที่เจ้ามรดกหรือผู้ตายได้ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ หรือจะเป็นคนที่ทายาทแต่งตั้งก็ได้ทั้งนั้น เพราะผู้จัดการมรดกคือคนที่เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วยการแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อผู้จัดการมรดกเป็นเพียงแค่คนที่เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของผู้ตายโดยถูกต้องครบถ้วนเท่านั้น ผู้จัดการมรดกจะโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมของทายาทไม่ได้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ซึ่งตามคำพิพากษาฎีกานี้ ถึงแม้ว่าผู้จัดการมรดกจะได้กระทำความผิดด้วยการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของกฎหมาย เพราะทายาทไม่ได้ยกทรัพย์มรดกนั้นให้แก่ผู้จัดการมรดก หรือไม่ได้ให้ความยินยอมแต่อย่างใด

ผู้จัดการมรดกเพียงแอบโอนทรัพย์มรดกที่ดินเป็นของตนเอง และโอนขายต่อให้บุคคลนอก ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าทายาทจะร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินนี้ได้หรือไม่

เพราะทายาทต้องการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างผู้จัดการมรดกกับบุคคลภายนอก ก็เพื่อให้ที่ดินพิพาทนั้นกลับมาสู่กองมรดกตามเดิมนั่นเอง

ซึ่งศาลก็ได้ตัดสินไว้แล้วว่าตามพฤติการณ์ที่ปรากฏ บุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินพิพาทในราคา  380,000 บาท โดยจ่ายเงินครบถ้วนและได้จดทะเบียนเรียบร้อยถูกต้องแล้ว

เมื่อไม่ปรากฏว่าบุคคลภายนอกที่ซื้อที่ดินนั้นไม่สุจริตอย่างไร ตามกฎหมายให้ถือว่าบุคคลภายนอกนั้นได้ที่ดินพิพาทนั้นมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงมีสิทธิดีกว่าทายาท ผลก็คือศาลไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างผู้จัดการและบุคคลภายนอกนั้นได้

แม้ผู้จัดการมรดกจะทำผิดกฎหมายก็ตาม ก็ไม่สามารถเพิกถอนการโอนได้ แต่ก็ยังไม่ตัดสิทธิของทายาทอย่างเด็ดขาด เพราะทายาทยังสามารถไปฟ้องร้องเพื่อเอาผิดกับผู้จัดการมรดกเป็นคดีใหม่ได้อีกทางหนึ่ง