ปิดบังทรัพย์มรดก หลังเจ้ามรดกตายเกินกว่า 1 ปี โจทก์จะฟ้องคดีเกินระยะเวลา 1 ปี ได้หรือไม่?

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2561

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันอ้างว่า ด. มีบุตร 3 คน ซึ่งเป็นความเท็จ และร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของ ด. โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ให้แก่โจทก์และบุตร ย่อมมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ประกอบกับเหตุแห่งการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามฟ้องเกิดขึ้นหลัง ด. ตายเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่ ด. ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

ปิดบังทรัพย์มรดก หลังเจ้ามรดกตายเกินกว่า 1 ปี จะฟ้องคดีเกินระยะเวลา 1 ปี ได้หรือไม่?

               เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และไม่มีการทำพินัยกรรมเผื่อตายไว้ก่อน เพื่อยกทรัพย์สินของตัวเองให้แก่ทายาทหรือผู้ที่ตนต้องการแบ่งทรัพย์สินให้แล้วนั้น

ตามกฎหมายก็ให้จัดการแบ่งปันทรัพย์สินของผู้ตายตามที่กฎหมายกำหนดไว้

โดยกฎหมายได้กำหนดลำดับทายาทผู้ที่จะสามารถเข้ารับมรดกของผู้ตายได้ตามความใกล้ชิดทางสายสัมพันธ์ ไม่ใช่ว่าผู้ใดเป็นทายาทของผู้ตายก็จะได้ทรัพย์สินของผู้ตายทุกคน

เพราะกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนเป็นลำดับแล้วว่า ทรัพย์สินของผู้ตายที่เป็นทรัพย์มรดกนั้น จะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทตามลำดับความสำคัญอย่างไรและเท่าไรบ้าง

ดังนั้นหากมีใครที่นำทรัพย์สินของผู้ตายไปซ่อนหรือปิดบังไม่บอกให้ทายาทรับรู้ ตามกฎหมายถือว่าเป็นผู้ที่ปิดบังทรัยพ์มรดก ซึ่งจะมีผลต่อการรับมรดกด้วย

จากกรณีที่จำเลยปิดบังทรัพย์มรดก และยังนำทรัพย์มรดกไปจัดการแบ่งปันแก่กันเอง โดยไม่บอกให้ทายาทของผู้ตายรับรู้ และยังไม่นำทรัพย์มรดกนั้นมารวมในกองมรดกของผู้ตาย เพื่อแบ่งปันทรัยพ์มรดกให้ครบถ้วนตามกฎหมาย

จึงถือว่ามีความผิด เพราะจำเลยทั้ง 3 ไม่สามารถนำทรัพย์มรดกไปแบ่งปันให้แก่กันเองได้ตามอำเภอใจ และจะอ้างเหตุผลว่าผู้ตายมีลูกอีก 3 คน ไม่ได้

เพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อไม่มีการเขียนพินัยกรรมจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้เผื่อตาย คนอื่นก็ไม่สามารถนำทรัพย์สินไปจัดการเองได้

ถึงแม้จะอ้างว่าผู้ตายเคยยกทรัพย์สินอะไรไว้ให้ก่อนตาย โดยอ้างเพียงคำพูดลอยๆ ก็ไม่สามารถทำได้

หรือจำเลยทั้ง 3 จะอ้างว่าผู้ตายมีลูกอีก 3 คน ดังนั้นจึงได้นำทรัพย์สินของผู้ตายมาแบ่งปันกัน โดยเป็นสิทธิที่ควรได้ ก็อ้างไม่ได้อีกเช่นกัน

เพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ต้องจัดแบ่งตามลำดับชั้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยลำดับที่ 1คือลูกโดยชอบด้วยกฎหมาย ลำดับที่ 2 คือพ่อแม่ และยังรวมถึงสามีหรือภริยาด้วย และลำดับต่อๆ มาก็เป็นทายาทหรือญาติที่อยู่ในลำดับห่างไกลออกไป

หากผู้ตายมีทายาทลำดับแรกแล้ว ทรัพย์สินของผู้ตายก็จะไม่ตกทอดมาถึงทายาทลำดับต่อๆ มาได้

ทายาทที่อยู่ลำดับท้ายๆ จะได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายก็ต่อเมื่อ ไม่มีทายาทลำดับก่อนตนเท่านั้น ไม่สามารถอ้างสิทธิหรือเหตุผลใดๆ ที่ขัดต่อข้อกำหนดที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้ง 3 ปิดบังและนำทรัพย์มรดกไปแบ่งปันกันเอง โดยไม่ได้อยู่ในทายาทลำดับแรกๆ จึงถือว่าผิดกฎหมาย โจทก์จึงสามารถฟ้องร้องเรียกให้จำเลยทั้ง 3 ส่งคืนและแบ่งปันทรัพย์มรดกคืนให้แก่ตนเองได้

และแม้โจทก์จะฟ้องเรียกทรัพย์คือเกิน 1 ปี นับจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายก็สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด