ความผิดฐานหมิ่นประมาท ควบ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2778/2561

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า ” (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ” โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า ” (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ” กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ควบ พรบ. คอมพิวเตอร์

ในปัจจุบันที่สื่ออนไลน์และช่องทางออนไลน์มีความรวดเร็วเป็นอย่างมาก ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก หรือแหล่งออนไลน์ช่องทางอื่นๆ ซึ่งมีการส่งต่อข้อมูลหรือแชร์กันอย่างมากมาย จนบางครั้งมีหลายคนที่ได้รับข้อมูลที่ผิดๆ จากการแชร์ข้อความหรือส่งต่อกันไปโดยที่ยังไม่รู้ความจริง จึงทำให้บางคนได้รับความเสียหายที่เกิดจากการแชร์ส่งต่อข้อความนั้นๆ

กฎหมายจึงมีการบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไว้โดยเฉพาะ ตามที่บัญญัติไว้ใน พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งในปัจจุบันมีการแก้ไขเป็นฉบับที่ 2 แล้ว เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยและการพัฒนาการของสื่อออนไลน์และการใช้คอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยครั้งจากกรณีที่มีการทวงเงินหรือต่อว่า หรือด่ากันผ่านเฟซบุ๊กหรือช่องทางอื่นๆ โดยการด่าหรือต่อว่านั้นทำให้ผู้อื่นที่เป็นเพื่อนหรืออยู่ในกลุ่มนั้นๆ เห็นข้อความนั้นด้วย ดังนี้การด่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ใน พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่ เพราะเป็นกฎหมายเฉพาะที่คลอดออกมาเพื่อบังคับใช้กับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เฉพาะ

ศาลฎีกาได้ตัดสินวางหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่า การที่ด่ากันผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือไอจี ฯลฯ ที่มีคนอื่นสามารถเห็นข้อความการด่านั้นได้ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในกฎหมายอาญาที่บัญญัติไว้เป็นการทั่วไป จะไม่ใช่ความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 14 ของ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน

เพราะเป็นการพูดถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยตรง คือเป็นการหลอกลวงโดยทุจริต เป็นการตั้งใจหลอกลวงและนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือน ไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน และการนำเข้าข้อมูลนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย จึงจะเป็นความผิดตาม พรบ.นี้ พูดง่ายๆ ก็คือมีการนำเข้าหรือข้อมูลปลอมที่มีการดัดแปลง ไม่ว่าจะต่อเติม ตัดทอนโดยจงใจให้เกิดความเสียหาย ก็เข้าข่ายมีความผิดตาม พรบ.นี้แล้ว

หรือเพียงแค่ “น่าจะ” ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ว่าจะเกิดความเสียหาย ถึงจะยังไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริง ผู้ที่น่าจะได้รับความเสียหายจากข้อมูลปลอมนั้นก็สามารถฟ้องร้องตาม พรบ.นี้ได้

แต่ต้องแยกต่างหากจากกันความการ “ด่า” ผ่านคอมพิวเตอร์ เพราะการด่าหรือให้ร้ายกันเป็นความผิดทางอาญา แม้จะมีการด่ากันผ่านคอมพิวเตอร์หรือสื่อต่างๆ ที่มีผู้อื่นสามารถเห็นข้อความนั้นได้ก็ตาม

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาจะไม่เป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ในขณะเดียวกันได้