ตอนชนยังไม่สาหัส แต่ผู้เสียหายบาดเจ็บสาหัส จากน้ำในหม้อน้ำหกใส่ คนชนรับผิดเท่าใด?

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.จราจรทางบก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2556

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะมาถึงสี่แยกหนองขาหยั่งขณะนั้นสัญญาณจราจรไฟซึ่งติดตั้งไว้บนทางที่จำเลยที่ 2 ขับมาขึ้นเป็นไฟสีแดงซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องชะลอความเร็วของรถลงและหยุดรอจนกว่าสัญญาณจราจรไฟจะเปลี่ยนเป็นไฟสีเขียวจึงจะขับรถแล่นเข้าบริเวณสี่แยกนั้นได้ จำเลยที่ 2 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 กลับขับรถแล่นตรงเข้าสี่แยกดังกล่าวทันที เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ขับรถแล่นเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วโดยมิได้ลดความเร็วลงและให้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับซึ่งแล่นมาทางด้านขวาผ่านไปก่อน เป็นการขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อันเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำโดยประมาทตามที่กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 300 ได้

จำเลยที่ 2 ไม่ชะลอรถก่อนเข้าทางร่วมแยกและให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 แล่นผ่านไปก่อนโดยประมาททำให้รถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส แม้เหตุที่จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเกิดจากมีพลเมืองดีขึ้นไปสตาร์ตรถทำให้น้ำในหม้อน้ำรถยนต์กระบะแตกลวกตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งนอนอยู่ใต้รถ แต่การที่จำเลยที่ 1 ถูกน้ำร้อนลวกบริเวณหน้าอกและหน้าท้องเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

ตอนชนยังไม่สาหัส แต่ผู้เสียหายบาดเจ็บสาหัสจากน้ำในหม้อน้ำหกใส่ คนชนรับผิดเท่าใด?

โจทก์ได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์เฉี่ยวชนจำเลยที่ 2 ที่กำลังขับเข้ามาบริเวณทางแยก ถึงแม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับการฝ่าไฟแดงของจำเลยที่ 2 ก็ตาม เพราะโจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ฝ่าไฟแดง แต่ตามทางนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ฝ่าไฟแดง

แต่เมื่อการขับรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 เป็นการใช้ความเร็วอย่างมากในขณะขับเข้าทางแยก ซึ่งคนปกติทั่วไปย่อมจะต้องชะลอความเร็วลงเมื่อกำลังเข้าทางแยก ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 กลับใช้ความเร็วอย่างมากในขณะที่กำลังขับรถยนต์เข้าทางร่วมทางแยก

จนกระทั่งได้เฉี่ยวชนกับรถมอเตอร์ไซค์ที่จำเลยที่ 1 ขับมา จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ประมาท อีกทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ยอมหยุดรถเพื่อให้รถของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ทางด้านขวาขับผ่านไปก่อนประกอบกับการขับรถเร็วเข้าทางแยก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทแล้ว

เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายจากการถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ชน และนอนอยู่บนพื้นถนน จากนั้นจึงมีพลเมืองดีเข้ามาช่วยสตาร์ทรถให้ แต่หม้อน้ำรถยนต์กลับระเบิดออก และน้ำร้อนที่อยู่ในหม้อน้ำได้รดลงใส่จำเลยที่ 1 บริเวณหน้าอกและหน้าท้อง จนทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส

ซึ่งตามที่กฎหมายกำหนด การได้รับอันตรายเพียงใดมีผลต่อการลงโทษของศาลด้วย และแน่นอนว่าได้รับอันตรายสาหัสย่อมต้องได้รับโทษทางอาญาที่หนักกว่าการที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายไม่ถึงกับเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือไม่ถึงกับเป็นอันตรายสาหัสแน่นอน

ซึ่งการที่น้ำร้อนลวกบริเวณหน้าอกและหน้าท้องก็ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสตามกฎหมายแล้ว

แม้การที่น้ำร้อนในหม้อน้ำจะลวกจำเลยที่ 1 จะเกิดจากฝีมือของพลเมืองดี ไม่ใช่การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ขับรถยนต์ชนจำเลยที่ 1 ก็ตาม

แต่การที่พลเมืองดีเข้ามาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ด้วยการสตาร์ทรถให้ จากนั้นจึงทำให้หม้อน้ำในรถยนต์เกิดระเบิดนั้น ก็เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ชนจำเลยที่ 1 นั่นเอง ถือว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 2

ผลก็คือการได้รับบาดเจ็บสาหัสของจำเลยที่ 1 กฎหมายให้ถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ขับรถยนต์ชนจำเลยที่ 1 โดยประมาท ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส