ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย – แก้ไขภาพคนอื่นลงเว็บจะผิด พ.ร.บ.คอมฯพ่วงไปด้วยไหม?

ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7616/2560

แม้ฟ้องของโจทก์จะไม่บรรยายระบุว่าได้ทำการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด แต่โจทก์อาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางานได้เมื่อโจทก์มีสัญชาติไทยและเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายนั้นเอง โจทก์ก็ย่อมได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จแม้จะยังมิได้โฆษณางานนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (1) ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายนั้น มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 21 เมื่อขณะฟ้องโจทก์มีอายุเพียง 25 ปี แม้จะฟังว่าโจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นตั้งแต่เกิด งานภาพถ่ายของโจทก์ก็ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครอง จึงถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นและยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายของโจทก์

เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยการคัดลอกงานภาพถ่ายของโจทก์ อีกทั้งจำเลยยังเจตนาทำให้โจทก์เสียหายด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์บางส่วนของโจทก์โดยมิชอบ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดทั้งสองเป็นเจตนาเดียวกันอันถือเป็นการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องความผิดส่วนดังกล่าวไป ก็ยังต้องวินิจฉัยต่อไปด้วยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 มีมูลให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ด้วย การที่ศาลดังกล่าวออกจากสารบบความจึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 35

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุก…” แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงทำนองว่า จำเลยได้คัดลอกข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์จากเว็บไซต์ของโจทก์ไปไว้ในเว็บไซต์ของจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์อย่างไร แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าว ก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ได้ ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย – แก้ไขภาพคนอื่นลงเว็บจะผิด พ.ร.บ.คอมฯ ไปด้วยหรือไม่?

ในยุคที่สื่อออนไลน์และช่องทางออนไลน์มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก จึงทำให้มีการส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริงอย่างต่อเนื่องมากมาย

รวมไปถึงการคัดลอกภาพและสิ่งต่างๆ ของคนอื่นทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจเพื่อส่งต่อผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะเนื่องจากเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือช่องทางอื่นๆ สามารถส่งต่อข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว เพียงแค่เชื่อมต่อมือถือหรือคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ก็สามารถส่งต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วแล้ว

และก็มีหลายๆ คนที่ไม่สำรวจหรือตรวจสอบข้อมูลจากเฟซบุ๊กหรือสื่อต่างๆ ให้ดีเสียก่อน รีบแชร์และส่งต่อข้อมูลนั้นไป ทำให้คุณอาจกระทำความผิดโดยไม่รู้ตัวก็ได้

เช่นเดียวกับการทำซ้ำ ดัดแปลง งานภาพถ่ายหรือรูปภาพที่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งการที่ใครจะได้ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายหรือรูปถ่ายนั้นๆ กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ แล้วว่า คนที่เป็นผู้จัดทำภาพถ่ายหรือรูปภาพของงานนั้นๆ ย่อมได้ลิขสิทธิ์ในภาพถ่ายนั้นๆ ตั้งแต่งานนั้นได้ถูกทำขึ้นแล้ว แม้จะยังไม่ได้ไปขอจดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายก็ตาม

เพราะการไปขึ้นทะเบียนหรือจดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้น เป็นคนละส่วนกับการแสดงถึงงานที่มีลิขสิทธิ์  เพราะกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า เจ้าของที่สร้างสรรค์งาน ภาพถ่าย หรือรูปภาพจากความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ได้กรรมสิทธิ์ตั้งแต่ผลิตชิ้นงานนั้นออกมาแล้ว

และกฎหมายยังได้กำหนดต่อไปอีกว่าลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายนั้นมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้ผลิตภาพถ่ายนั้นออกมา

ดังนั้นหากมีการทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ภาพถ่ายที่มีลิขสิทธิ์ของคนอื่นก็ถือว่าผิดกฎหมาย

แต่ถึงอย่างไรการที่จะฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อให้ศาลได้เห็นว่า ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นได้กระทำผิดกฎหมาย กฎหมาบังคับไว้ชัดเจนเลยว่าจะต้องเขียนคำฟ้อง โดยบรรยายให้เห็นว่าการที่จำเลยหรือผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ได้ทำซ้ำ คัดลอก ดัดแปลง ภาพถ่ายที่เป็นลิขสิทธิ์ของตนเอง

จนทำให้เกิดความเสียหายและไม่ได้บรรยายให้เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ที่จะต้องบรรยายให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสียหาย เป็นการทำลาย หรือเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ภาพถ่ายที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ จนทำให้เกิดความเสียหาย

เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้กระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด ผลก็คือโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

และการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ศาลจึงไม่สามารถลงโทษจำเลยในข้อหาตามที่โจทก์ฟ้องมาได้