ผู้เสียหายถอดสร้อยคอทองคำยื่นให้เพื่อแลกไม่ให้ถูกข่มขืน จำเลยจะมีความผิดฐานใดหรือไม่?

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2562

จำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถในมหาวิทยาลัย น. ผู้เสียหายยังไม่ได้ลงจากรถ จำเลยเดินมาจากด้านหลังของผู้เสียหายแล้วถามผู้เสียหายว่ามีเงินเท่าใด จากนั้นเข้าประชิดตัวผู้เสียหายพร้อมกับทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงข้างหลัง ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่คุกคามผู้เสียหาย โดยเฉพาะจำเลยเป็นชายอยู่ในวัยฉกรรจ์ ร่างกายล่ำกำยำ สูงกว่าผู้เสียหายมาก ส่วนผู้เสียหายเป็นหญิง กำลังศึกษา ย่อมเกิดความเกรงกลัวจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การที่จำเลยกระทำและพูดกับผู้เสียหายเช่นนั้น เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเงินให้แก่จำเลย เมื่อผู้เสียหายส่งเงินให้ 240 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 339 (2) วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้หยิบเอาทรัพย์นั้นเอง หรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป

การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากส่งเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยกอดปล้ำพยายามดึงกางเกง ผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่า เมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายไป การที่จำเลยรับสร้อยคอทองคำไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ 225

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

การที่ผู้เสียหายกลัวว่าจำเลยจะทำร้ายหรือข่มขืนตนเอง โดยมีท่าทีว่ากำลังจะเข้าข่มขืนนั้น ผู้เสียหายจึงได้ยื่นสร้อยคอทองคำให้ เหมือนกับเป็นการยื่นข้อเสนอโดยการเสนอสร้อยคอทองคำให้เพื่อหวังจะให้พ้นจากการถูกข่มขืน แม้จะเป็นการยื่นสร้อยคอทองคำให้จำเลยเองกับมือ ก็ยังถือว่าจำเลยมีความผิดอยู่ดี แต่จะผิดข้อหาใดบ้างนั้น ต้องดูรายละเอียดตามการกระทำ

มีอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามคำตัดสินของศาลฎีกาที่ 1513/2562 กรณีผู้เสียหายขับรถมอเตอร์ไซค์มาเพียงลำพัง ขณะที่เพิ่งดับเครื่องยนต์ โดยยังไม่ได้ลงจากรถนั้น จำเลยเดินเข้ามาประชิดตัว และทำท่าล้วงสิ่งของจากกางเกงโดยยังไม่ได้พูดข่มขู่ผู้เสียหายเลยก็ตาม การกระทำดังกล่าวศาลฎีกาตัดสินไว้ว่า ถือว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายตามกฎหมายแล้ว ว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายเกิดความกลัว จึงส่งเงินให้จำเลยไปเอง 240 บาท

แม้ผู้เสียหายจะเป็นผู้ส่งเงินให้จำเลยเองก็ตาม ศาลก็ยังตัดสินว่าจำเลยเป็นผู้ข่มขู่เพื่อหวังจะได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายอยู่ดี จำเลยจึงมีความผิดข้อหาชิงทรัพย์

แต่เหตุการณ์ยังไม่จบแค่นั้น เพราะจำเลยยังทำท่าเข้ามาดึงกางเกงของผู้เสียหายลง โดยหวังว่าจะข่มขืนหรือกระทำอนาจารผู้เสียหาย ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าตัวเองจะถูกข่มขืนกระทำชำเรา จึงยอมถอดสร้อยคอทองคำยื่นให้แก่จำเลย

ถึงแม้ว่าผู้เสียหายจะเป็นผู้ยื่นสร้อยคอทองคำให้กับจำเลยด้วยมือของตนเอง และจำเลยก็ยังไม่ได้พูดข่มขู่ว่าจะข่มขืนหากไม่ถอดสร้อยคอทองคำให้ก็ตาม

ศาลฎีกาก็ยังตัดสินว่าจำเลยก็ยังมีความผิดตามกฎหมายอยู่ดี แต่การที่ผู้เสียหายยื่นสร้อยคอทองคำให้กับมือเอง โดยจำเลยยังไม่ได้พูดขู่เข็ญ หรือกำลังจะทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จำเลยจึงผิดเพียงแค่ข้อหา “ลักทรัพย์” โดยยังไม่ถึงขั้นผิดข้อหา “ชิงทรัพย์” ที่มีโทษรุนแรงกว่า

เพราะจำเลยยังไม่มีอาการข่มขู่หรือทำท่าว่าจะเข้าทำร้ายผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างไรศาลก็ยังคงตัดสินว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอยู่ดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่จำเลย

และตามอุทาหรณ์นี้จะเห็นได้ชัดว่า จำเลยจะผิด 2 ข้อหา โดยแยกการกระทำเป็น 2 ส่วนออกจากกัน และจะเห็นได้ชัดขึ้นอีกว่า

ถึงแม้ผู้เสียหายจะยินยอมยื่นเงินและถอดสร้อยที่อยู่ที่คอของตนเอง ส่งให้กับมือจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่สามารถจะพูดได้ว่าเป็นเพราะผู้เสียหายส่งของให้เองได้

เพราะไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ผู้เสียหายจะตั้งใจยื่นทรัพย์สินให้จำเลย แต่เป็นเพราะจำเลยมีอาการที่ทำให้ผู้เสียหายกลัว จนต้องส่งทรัพย์สินให้จำเลยเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากการกระทำผิดของจำเลยนั่นเอง