คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2559
การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองอันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น เป็นการกระทำความผิดที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกัน ถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการที่จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี นั้น โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเมาสุรา โดยโจทก์มิได้บรรยายอ้างเหตุว่า การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) นั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสาม แต่คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา และความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราจะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43 (2), 160 ตรี ริบรถยนต์ของกลาง และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายเบียร์ ผู้เสียหายที่ 1 และนายศุภชัย ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น โดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 และโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท และแก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ต้องรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานขับรถในขณะเมาสุรา จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 12 ปี ริบรถยนต์ของกลาง ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 80,000 บาท และแก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 280,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ คันเกิดเหตุ โดยมีโจทก์ร่วมที่ 2 นั่งซ้อนท้ายแล่นไปตามถนนแสงชูโต ถึงบริเวณหน้าสุสานสัมพันธมิตร มีคนร้ายขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีดำ คันเกิดเหตุแล่นตามหลังและกดแตร 2 ครั้ง โจทก์ร่วมที่ 1 กดแตรตอบกลับไป 1 ครั้ง จากนั้นคนร้ายขับรถยนต์มาจอดขวางทาง โจทก์ร่วมที่ 1 เร่งเครื่องรถจักรยานยนต์หลบหนี คนร้ายขับรถยนต์ตามมาเบียดในลักษณะจะชนให้รถจักรยานยนต์ล้ม แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับหลบได้ทัน แล้วคนร้ายขับรถยนต์แล่นตามไปชนท้ายรถจักรยานยนต์ ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองล้มกระเด็นออกจากรถจักรยานยนต์ คนร้ายขับรถยนต์ลากเอารถจักรยานยนต์ติดใต้ท้องรถยนต์แล่นหลบหนีไปทางแยกแก่งเสี้ยน และเลี้ยวขวาไปทางแยกวังสารภี แล้วเข้าไปจอดในซอยเนื่องจากยางรถยนต์ด้านหน้าขวาแตกไม่สามารถขับต่อไปได้ คนร้ายวิ่งหลบหนีออกจากรถยนต์เข้าไปในป่า ต่อมาจำเลยถูกควบคุมตัวในสภาพเมาสุราออกมาจากป่า และเจ้าพนักงานตำรวจพบกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุที่ตัวจำเลย ผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์ปรากฏว่าจำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 217 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณแขนซ้าย บาดแผลฉีกขาดที่เข่าซ้ายลึกถึงข้อร่วมกับมีการขาดของกล้ามเนื้อ และกระดูกแข้งขวาแตกลึกถึงเข่า ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดขนาดใหญ่ที่ข้อมือขวาลึกถึงข้อ บาดแผลฉีกขาดที่เข่าขวาลึกถึงข้อเข่า ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับอันตรายสาหัส ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับบาดเจ็บหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์ว่า ขณะที่พยานและดาบตำรวจศุภกรกับพวกไปคอยระวังป้องกันเหตุที่ผับกิซซี่นั้น เป็นช่วงเวลาที่ผับจะปิดบริการ และคนที่ไปเที่ยวผับทยอยเดินออกจากผับ เชื่อได้ว่าขณะนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ และมีผู้คนอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วยหลายคน พยานทั้งสองอาจให้ความสนใจต่อเหตุการณ์และผู้คนรอบข้างแตกต่างกันไปบ้างเป็นธรรมดา ดังจะเห็นได้จากที่ร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์เบิกความว่า พยานเห็นจำเลยเดินไปที่รถยนต์คันเกิดเหตุโดยพยานไม่ได้มองว่าใครเป็นคนขับและจะมีใครนั่งไปด้วย แต่เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวแล่นผ่านมายังจุดที่พยานยืนอยู่ จำเลยลดกระจกทางด้านฝั่งคนขับ พยานจึงเห็นว่าจำเลยเป็นคนขับรถยนต์คันดังกล่าว ซึ่งดาบตำรวจศุภกรก็เบิกความยืนยันในข้อนี้ซึ่งเป็นสาระสำคัญตรงกันว่า เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวแล่นวนมาทางด้านที่พยานกับพวกยืนอยู่ จำเลยลดกระจกทางด้านฝั่งจำเลยลง ซึ่งจำเลยนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับ ดังนี้ ที่พยานทั้งสองเบิกความขัดแย้งแตกต่างกันในเรื่องที่จำเลยฎีกาดังกล่าวจึงเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ข้อพิรุธถึงขนาดจะรับฟังไม่ได้ว่า ร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์จะเห็นจำเลยนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับจริงหรือไม่ดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกไปจากบริเวณหน้าผับกิซซี่ดังกล่าว ซึ่งจำเลยก็ฎีการับอยู่ในข้อนี้ ส่วนที่จำเลยฎีกาทำนองว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีผู้ใดยืนยันว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ขับรถชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองนั้น ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์ว่า เมื่อจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกไปจากบริเวณหน้าผับกิซซี่ไม่ถึง 10 นาที พยานได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุสื่อสารว่า เกิดเหตุในคดีนี้และรถยนต์คันเกิดเหตุแล่นเลี้ยวขวาไปทางแยกวังสารภี พยานจึงให้เจ้าพนักงานตำรวจขับรถพาพยานกับพวกติดตามรถยนต์คันเกิดเหตุจากผับกิซซี่ไปถึงบริเวณที่เกิดเหตุหน้าโรงแรมศรีเมืองกาญจน์ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุที่โจทก์ร่วมทั้งสองถูกชนโดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ถึง 3 นาที เชื่อว่าบริเวณจุดเกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากผับกิซซี่เท่าใดนัก ไม่น่าเชื่อว่าในระยะทางและระยะเวลาเพียงเท่านั้น จำเลยจะต้องเปลี่ยนให้ผู้ใดมาขับรถยนต์คันเกิดเหตุแทนและจะมีการเปลี่ยนให้ผู้อื่นมาขับได้ทัน ทั้งตามทางนำสืบของจำเลยก็อ้างว่า นายเบิ้มลูกน้องของจำเลยเป็นคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยหาได้นำสืบว่าจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกไปจากผับกิซซี่แล้วต่อมามีการเปลี่ยนให้คนอื่นมาขับดังทำนองที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงขัดแย้งกันเองและเป็นพิรุธ นอกจากนี้ตามพฤติการณ์ในคดีเห็นได้ว่า เมื่อรถยนต์คันเกิดเหตุแล่นชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง ร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์และดาบตำรวจศุภกรกับพวกก็ไล่ติดตามรถยนต์คันเกิดเหตุไปทันที และเมื่อรถยนต์คันเกิดเหตุแล่นไปถึงบริเวณจุดตรวจแก่งเสี้ยน นายกฤษดาและนายโสภณก็ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะไล่ติดตามรถยนต์คันเกิดเหตุไปทันทีด้วยเช่นกัน โดยนายกฤษฎายืนยันว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับชายที่กลับมาที่รถยนต์คันเกิดเหตุและกดรีโมทคอนโทรลเพื่อล็อกรถ และเมื่อนายกฤษดากับนายโสภณควบคุมตัวจำเลยออกมาจากป่าแล้วมอบตัวจำเลยให้ร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์ ร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์สอบถามถึงกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยล้วงเข้าไปในกระเป๋ากางเกงด้านขวาและหยิบกุญแจรถยนต์คันดังกล่าวส่งมอบให้ร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ที่เป็นคนขับรถย่อมต้องเป็นผู้ที่พกกุญแจรถไว้เพื่อความสะดวกในการใช้งาน และโดยปกติแล้วอีกเช่นกันย่อมไม่มีความจำเป็นที่คนขับรถจะต้องพกกุญแจรถติดตัวไปพร้อมกับผู้อื่นในคราวเดียวกันถึง 2 ชุด ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยและนายเบิ้มเก็บกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุไว้คนละชุดจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมต่อเหตุผล และไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุนับแต่จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกมาจากผับกิซซี่ แล้วจำเลยหันกลับมากดรีโมทคอนโทรลล็อกรถยนต์คันเกิดเหตุจนกระทั่งจำเลยถูกควบคุมตัวโดยนายกฤษดาและนายโสภณพร้อมกับกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งจำเลยได้มอบให้ร้อยตำรวจตรีสมเกียรติ์ล้วนเป็นไปในระยะเวลากระชั้นชิดต่อเนื่องกันเป็นอย่างยิ่งโดยไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะเปลี่ยนให้ผู้ใดมาขับรถแทนหลังออกจากผับกิซซี่ดังที่วินิจฉัยไปแล้วข้างต้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่อ้างว่าไม่ได้เป็นคนร้ายเป็นปัญหาปลีกย่อย แม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสอง อันเป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายของรถยนต์คันเกิดเหตุ ประกอบบันทึกการตรวจพิสูจน์เครื่องกลและเครื่องอุปกรณ์รถยนต์คันเกิดเหตุ เห็นได้ว่า รถยนต์คันเกิดเหตุได้รับความเสียหายพอสมควรคือ ไฟหน้าด้านซ้ายแตก ฝากระโปรงหน้ายุบ กระจังหน้าด้านซ้ายแตก และบังโคลนหน้าด้านซ้ายบุบ ส่วนโจทก์ร่วมทั้งสองถูกจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุชนท้ายรถจักรยานยนต์จนกระเด็นหล่นจากรถจักรยานยนต์ แสดงว่าขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์พุ่งชนอย่างแรง และรถยนต์ของจำเลยยังมีขนาดและแรงปะทะมากกว่ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง นอกจากนี้เมื่อมีการชนแล้วรถยนต์ของจำเลยยังลากรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองติดไปด้วยเป็นระยะทางไกล ซึ่งหากโจทก์ร่วมทั้งสองติดอยู่ใต้ท้องรถยนต์ของจำเลยด้วยก็อาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของจำเลยอาจทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองถึงแก่ความตายได้ และแม้จะรับฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้ขับรถถอยหลังเพื่อจะทับโจทก์ร่วมทั้งสองให้ถึงแก่ความตายทั้ง ๆ ที่มีโอกาสที่จะกระทำได้ดังทำนองที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็ไม่ทำให้ความผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เพราะเจตนาโดยเล็งเห็นผลนั้นมุ่งถึงลักษณะแห่งการกระทำ และผลของการกระทำที่อาจเกิดขึ้นเป็นหลัก มิได้มุ่งถึงเจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 217 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยเมาสุราอย่างมากจนไม่อาจครองสติได้นั้น ข้อนี้เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางพิจารณาว่า วันเกิดเหตุจำเลยเข้าไปดื่มสุราในผับกิซซี่ ถือได้ว่าจำเลยสมัครใจเสพสุราโดยรู้ว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้มึนเมา จำเลยย่อมไม่อาจยกเอาความมึนเมานั้นขึ้นเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 66 ถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสอง อันเป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง อันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น เป็นการกระทำความผิดที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกัน ถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการที่จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และเมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันสำหรับความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาในความผิดฐานดังกล่าวว่า จำเลยไม่ได้เป็นคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง เป็นยกฟ้องปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป หรือขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ซึ่งรวมถึงความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า สมควรลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นสถานเบากว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นมีระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วางโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 ปี ก็เป็นระวางโทษสองในสามส่วนของอัตราโทษขั้นต่ำสุดในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยให้เบากว่านั้นได้ ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธ และทางนำสืบของจำเลยก็ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ลดโทษให้จำเลยจึงเหมาะสมแล้ว และแม้หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 มาตรา 7 ยกเลิกความในมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา 56 ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้ศาลรอการลงโทษจำคุกในคดีที่ศาลลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีได้ แตกต่างจากมาตรา 56 เดิม ที่บัญญัติให้ศาลรอการลงโทษจำคุกในคดีที่ศาลลงโทษจำคุกไม่เกินสามปีเท่านั้น แต่เมื่อคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นมีกำหนด 10 ปี กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) อยู่นั่นเอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี นั้น โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพ ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปตามถนนแสงชูโตซึ่งเป็นทางสาธารณะในขณะเมาสุรา โดยขณะที่จำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 217 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยโจทก์มิได้บรรยายอ้างเหตุว่า การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) นั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสาม แต่คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา และความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราจะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยไปข้างต้นแล้วก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้ว เป็นจำคุก 11 ปี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7