พักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์เนื่องจากกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องฟ้องศาลใด?

กฏหมายยาเสพติด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2562

คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 เป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 และมาตรา 14 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่โจทก์ฎีกาขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

พักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์เนื่องจากกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องฟ้องศาลใด?

การเสพยาเสพติดให้โทษในขณะขับรถ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ประเภทใดก็ตาม ย่อมมีความผิดตามกฎหมายทั้งนั้น เพียงแต่ว่าหากเป็นรถยนต์ที่ต่างประเภทหรือมีวัตถุประสงค์ในการใช้ต่างกัน ความรุนแรงของการลงโทษทางกฎหมายก็อาจแตกต่างกันได้ เช่น การเสพยาเสพติดให้โทษในขณะขับรถยนต์ส่วนบุคคล กับการเสพยาเสพติดให้โทษในระหว่างขับรถยนต์ประจำทาง

ซึ่งการเสพยาเสพติดให้โทษก็จะเป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกับการความผิดตามที่ระบุไว้ในกฎหมายหลายฉบับด้วยกัน หากเป็นการขับรถยนต์และเสพยาเสพติดให้โทษด้วย ก็จะเป็นทั้งความผิดตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ และ พรบ.จราจรทางบกฯ

แต่หากเป็นการเสพยาเสพติดให้โทษในขณะขับรถประจำทางหรือรถขนส่งผู้โดยสาร โทษที่ได้รับก็จะรุนแรงกว่า เพราะกฎหมายถือว่าความเสี่ยงต่อความประมาทเกิดขึ้นได้กับหลายๆ คนมากกว่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับเช่นกันคือ พรบ.ยาเสพติดให้โทษฯ และ พรบ.การขนส่งทางบกฯ

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการขับรถชนิดใดก็ตาม เมื่อมีการเสพยาเสพติดให้โทษก็ย่อมเป็นความผิดต่อเนื่องเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งนั้น ซึ่งในกรณีนี้ได้มีการกำหนดเขตอำนาจศาลที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาไว้แล้ว

เพราะอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาของศาล จะแสดงถึงการฟ้องต่อศาลว่าถูกต้องตามเขตอำนาจที่ฟ้องได้หรือไม่ เพราะหากมีการฟ้องผิดศาลแล้วล่ะก็ ศาลก็อาจพิพากษายกฟ้อง หรือสั่งอย่างอื่นที่อาจมีผลเสียต่อโจทก์ได้

ดังนั้นการจะเริ่มต้นฟ้องร้องต่อศาลใด การดูว่าศาลนั้นๆ มีเขตอำนาจหรือไม่จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่าอยากจะยื่นฟ้องต่อศาลใดก็ได้นั้นไม่ใช่ เพราะหากมีการฟ้องผิดศาล หรือฟ้องต่อศาลที่ไม่มีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณา ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องนั่นเอง

หรือแม้แต่การอุทธรณ์ก็ตาม ต้องดูตามฐานความผิดที่ฟ้องและที่ศาลชั้นต้นตัดสินมาด้วย ว่าคดีนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นความผิดเกี่ยวกับเรื่องอะไร และกฎหมายกำหนดให้ความผิดกรณีเช่นนี้ต้องอุทธรณ์ต่อศาลใด

กรณีตามคำพิพากษาฎีกานี้เป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดขับรถยนต์และเสพยาเสพติดให้โทษด้วย จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หากคู่ความจะอุทธรณ์ก็ต้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ไม่ใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ภาครับพิจารณาไว้ จนมีคำพิพากษา จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะศาลอุทธรณ์ภาคไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาตั้งแต่ต้นนั่นเอง