คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2562
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2562ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นท้องที่พบการกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนให้พันตำรวจตรี อ. อำพรางตัวเป็นเด็กท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่ขนกระสอบข้าวและกระสอบปุ๋ยบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจังหวัดเชียงรายไปส่งให้จำเลยที่ 2 ในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่ได้นัดหมายกันไว้กับผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อกับสายลับว่าจะมารับเมทแอมเฟตามีน เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไปจนกระทั่งสามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายซึ่งเป็นท้องที่ที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางและสถานีตำรวจภูธรวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย จึงมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การสอบสวนย่อมเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำความผิดหลายคนเกี่ยวพันกัน ความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่รับฟ้องความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน ย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลชั้นต้น
อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ
สภ.เมืองเชียงราย ตามสืบสวนจนจับกุมได้ในพื้นที่ สภ.วังน้อย อยุธยา ใครมีอำนาจสอบสวน?
ตามกฎหมายแล้วตำรวจมีอำนาจจับกุมคนร้ายได้ทั่วราชอาณาจักร แต่อำนาจในการสอบสวนคนร้ายเพื่อรวบรวมสำนวนเสนอความเห็นให้อัยการส่งฟ้อง จะต้องเป็นการสอบสวนของตำรวจผู้มีอำนาจ คือจะต้องเป็นอำนาจสอบสวนของตำรวจในพื้นที่ ตามที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลไปถึงอำนาจในการฟ้องร้องคดีด้วย
จะต้องทำความเข้าใจแยกต่างหากจากกันเสียก่อน ระหว่าง “จับกุม” กับ “สอบสวน” เพราะอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายได้ทั่วราชอาณาจักร แม้จะไม่ใช่เขตพื้นที่สถานีตำรวจของตนเอง
ดังนั้นแม้จะเป็นตำรวจนอกพื้นที่ แต่เมื่อได้เห็นคนร้ายกำลังกระทำความผิด หรือที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นการกระทำความผิด ก็สามารถทำการจับกุมได้ทันที
เราจึงเห็นได้บ่อยครั้งที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ไม่ว่าจะพักผ่อนหรือไปเที่ยวหรืออยู่ระหว่างขับรถไปนอกพื้นที่ก็ตาม หากพบเห็นการกระทำความผิดก็สามารถเข้าจับกุมได้ทันที แต่เมื่อจับกุมได้แล้ว ตนเองก็ไม่มีอำนาจสอบสวน จึงต้องส่งตัวคนร้ายให้กับตำรวจในพื้นที่ เพื่อทำการสอบสวนและส่งเรื่องฟ้องต่อไป
ตามคดีนี้เป็นกรณีที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในหลายท้องที่ ซึ่งในตอนแรกมีการจับกุมผู้ที่กระทำความผิดได้ที่ สภ.เชียงราย และจึงมีการขยายผลการสอบสวนจนกระทั่งล่อให้มีการจำหน่ายยาเสพติด และเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ที่ปั๊มน้ำมันที่อำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่นอกเหนืออำนาจการสอบสวนของ สภ.เชียงราย ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่กรณีนี้คือมีการกระทำความผิดต่อเนื่องกัน และการกระทำความผิดเกิดขึ้นในหลายท้องที่ ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้สำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะว่า พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจสอบสวนได้
ดังนั้นเมื่อมีการกระทำความผิดในชั้นแรกตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจความรับผิดชอบของ สภ.เชียงราย และต่อเนื่องไปจนถึงอำเภอวังน้อยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.วังน้อย
พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ คือพนักงานสอบสวน สภ.เชียงราย ที่เป็นผู้พบเห็นการกระทำความผิดก่อน หรือจะเป็นพนักงานสอบสวน สภ.วังน้อย ซึ่งเป็นเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จับกุมจำเลยได้ จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจทำการสอบสวนได้
ดังนั้นจากคดีนี้พนักงานสอบสวน สภ.เชียงราย จึงมีอำนาจสอบสวนและทำความเห็นเสนอต่อพนักงานอัยการ
เมื่อมีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การฟ้องร้องเอาผิดแก่จำเลยเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายของพนักงานอัยการจึงเป็นไปโดยชอบ ศาลจึงตัดสินว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยถูกต้องตามกฎหมาย