SCGP ตั้งเป้าปี 65 รายได้พุ่ง 1.4 แสนล้าน อัดงบ 1 หมื่นล้านลุย M&P

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

SCGP ตั้งเป้าปี 65 โกยรายได้จากการขายเพิ่มเป็น 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 64 ที่มีรายได้จากการขาย 1.24 แสนล้านบาท และกำไรสำหรับปี 8,294 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้เต็มปีจากดีลที่ควบรวมกิจการและการขยายกำลังผลิตแล้วเสร็จในปีนี้ พร้อมอัดงบลงทุนปี 65 ที่ 2 หมื่นล้านบาท เน้น M&P 50% ของงบลงทุน บอร์ดบริษัทอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลครึ่งปีหลัง 64 หุ้นละ 40 สต.

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการขายอยู่ที่ 140,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 124,223 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีจากดีลที่ควบรวมกิจการในปีที่ผ่านมา และโครงการขยายกำลังการผลิตที่จะแล้วเสร็จในปีนี้ ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากภูมิภาคอาเซียนและยุโรปสูงกว่ารายได้จากในประเทศไทย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้งบลงทุน 5 ปี ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของ SCGP รวมถึงพิจารณาโอกาสขยายการลงทุนที่เหมาะสมในภูมิภาคอื่นๆ โดยในปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้ใกล้เคียงปีที่แล้วอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งใช้เพื่อการควบรวมกิจการกับพันธมิตร (Merger and Partnership: M&P) และที่เหลือใช้ในการขยายกำลังการผลิตและการซ่อมบำรุงโรงงาน

นายวิชาญกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการบริโภคในปี 2565 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ส่วนค่าระวางเรือขนส่งจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตและการบริโภค

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อน และมีกำไรสำหรับปี 8,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปีก่อน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 21,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อน

 

โดยปี 2564 แม้ว่าบริษัทต้องเผชิญความท้าทายของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิด-19 การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง แต่ด้วยการบริหารงานภายใต้โมเดลธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพที่เน้นเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสินค้านวัตกรรมและการขยายพอร์ตสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบ Organic Expansion และ Merger and Partnership (M&P) และการวางแผนบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นับจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน SCGP ได้ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ ใช้เงินลงทุนรวมตลอดอายุโครงการประมาณ 40,000 ล้านบาท ทั้งการควบรวมกิจการ ( M&P) ในปีที่แล้วจำนวน 4 โครงการ คือ Go-Pak, Duy Tan, Intan Group และ Deltalab รวมกับการขยายกำลังการผลิตของบริษัทฯ รวมเป็น 12 โครงการ ในจำนวนนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 9 โครงการ ส่วนอีก 3 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ 1. การขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ของ United Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC) ประเทศฟิลิปปินส์ อีก 220,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565

2. ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและประเทศเวียดนามอีก 1,838 ล้านชิ้นต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และ 3. โครงการก่อสร้างฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ภายใต้ Vina Kraft Paper Company Limited (VKPC) ด้วยกำลังการผลิต 370,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2567

 

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน โดยมีรายได้จากการขาย 35,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวด 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA เท่ากับ 5,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากขึ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์อาหาร (Foodservice Products)

ส่วนภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่ฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและซัปพลายเชนทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงภาวะปกติ ในขณะที่ราคาเยื่อกระดาษปรับลดลงจากประเทศผู้นำเข้ารายหลัก

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีพิจารณาการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของปี 2564 ในอัตรา 0.65 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายใน 0.40 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 7 เมษายน 2565 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 5 เมษายน 2565

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business