ลำไส้แปรปรวนเสี่ยงโรคซึมเศร้า ดูแลได้ด้วย โปรไบโอติก

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome :IBS) โรคนี้เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานของลำไส้ที่ผิดปกติ โดยมีอาการตั้งแต่ปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ การตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆของร่างกายเลย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แพทย์วินิจฉัยและบอกสาเหตุของการเกิดโรคได้ไม่แน่ชัด แต่ก็พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อาหาร ชีวิตในช่วงวัยเด็ก การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และการใช้ยาปฎิชีวนะ

มีงานวิจัยออกมามากมายในช่วงทศวรรษนี้ ที่พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างสมองและลำไส้ ซึ่งมันถูกเรียกว่า GUT-BRAIN AXIS
GUT-BRAIN AXIS  คือ การสื่อสารกันระหว่างระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) ของสมองกับระบบประสาทที่ลำไส้ (Enteric nervous system) ผ่านเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ในแนวไขสันหลัง เลือด และสารสื่อประสาท (neurotransmitter)

การสื่อสารระหว่างสมองกับลำไส้ มีหน้าที่สำคัญต่างๆมากมาย สำคัญจนถึงขั้นที่ว่าทางการแพทย์ได้ตั้งฉายาให้กับลำไส้ว่าเป็นสมองส่วนที่ 2 ของร่างกายกันเลยทีเดียว เนื่องจากลำไส้มีการทำงานที่เป็นระบบ Autonomic Nervous System ซึ่งทำงานเป็นอิสระจากการสั่งงานของสมอง

ความเชื่อมโยงระหว่างลำไส้แปรปรวนกับโรคซึมเศร้า

จากรายงานการวิจัยของสหรัฐอเมริกาที่ได้ทำการศึกษากับผู้ที่มีภาวะลำไส้แปรปรวนประมาณ 100,000 คน พบว่ากว่า 4 หมื่นคนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในเวลาต่อมา เนื่องจากระบบการขับถ่ายที่ผิดปกติทำให้ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมีการส่งสัญญาณจากลำไส้ไปสู่สมองค่อนข้างถี่และบ่อย จนทำให้ร่างกายเกิดสภาวะเครียด รวมถึงทำให้ระดับความเข้มข้นของเซโรโทนินในเลือด ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับความสุขลดต่ำลง จึงมีอาการหดหู่ได้ง่าย โรคซึมเศร้าจึงตามมา

โปรไบโอติก จะเข้ามาช่วยได้อย่างไร?

ภายในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะที่ลำไส้จะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆมากมาย (microbiome) ถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การสื่อสารระหว่างสมองและลำไส้ (GUT-BRAIN AXIS) ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์หลักๆของจุลินทรีย์ตัวดีพวกนี้ คือ

  • ช่วยในการย่อย การดูดซึมอาหาร
  • ปรับสมดุลระบบขับถ่าย
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  • ช่วยในการสร้างสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (serotonin)

Serotonin เป็นสารสื่อประสาทสำคัญในร่างกาย โดยเฉพาะสำหรับสมอง ประมาณ 80-90% ของปริมาณเซโรโทนินรวมในร่างกายมนุษย์พบใน enterochromaffin cells ซึ่งเป็นเซลล์ในทางเดินอาหาร ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความโกรธ และความก้าวร้าว

ดังนั้น ถ้าเรามีสุขภาพลำไส้ที่ดีและแข็งแรง ร่างกายก็สามารถหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ออกมาได้ในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยในการลดภาวะเครียด ทำให้อาการโรคลำไส้แปรปรวนลดน้อยลง ความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าก็จะลดลงตามไปเช่นเดียวกัน

เราจะเสริมสร้างสุขภาพลำไส้ให้ดีได้อย่างไร?

  • รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของโปรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ เทมเป้ และอาหารหมักดองอื่นๆ
  • รับประทานพรีไบโอติก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นอาหารให้แก่จุลินทรีย์ตัวดีภายในลำไส้ เช่น บล็อกโครี่ กระเทียม หัวหอม กล้วย ชิกโครี่ หน่อไม้ฝรั่ง และแก่นตะวัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฎิชีวนะให้มากที่สุด
  • การดีท็อกหรือสวนล้างลำไส้ ก็ไม่ควรทำบ่อย เพราะแต่ละครั้งอาจทำให้สูญเสียจุลินทรีย์ตัวดีออกจากลำไส้ไปได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง
  • รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรไบโอติก เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ตัวดีให้แก่ร่างกาย

สุขภาพที่ดี ต้องดีทั้งร่างกาย จิตใจ และลำไส้