การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในบทความ จะเกิดขึ้นเมื่อใด?

ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4631/2560

ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความว่า บทความของโจทก์ที่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับข่าวเศรษฐกิจและบทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2558 ทั้งสิ้น แม้ฟ้องไม่ได้ระบุว่าบทความนั้นทำขึ้นเมื่อใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่าบทความดังกล่าวทำขึ้นในปี 2558 ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดจึงยังอยู่ในอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดข้อหนึ่งแล้ว ในกรณีนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่จำต้องบรรยายวันที่โจทก์โฆษณางานครั้งแรกแต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมบทความดังกล่าวเสร็จตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1)

ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และวันเวลาที่เกิดการกระทำละเมิดดังกล่าวอันเป็นการบรรยายฟ้องเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไรแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชอบ ส่วนการที่คำบรรยายฟ้องอาจไม่มีความชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดเป็นจำนวนกี่กรรมนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจะเป็นความผิดหลายกรรมตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดจากพยานหลักฐานในสำนวน

แม้คดีนี้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งหากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเป็นอันขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 และ ป.อ. มาตรา 96 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสามเดือนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ก็ไม่เป็นเหตุให้คดีนี้ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่อย่างใด

อธิบายกฎหมาย

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในบทความ จะเกิดขึ้นเมื่อใด?

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานบทความหรือที่เรียกกันเป็นภาษากฎหมายว่า “งานวรรณกรรม” นั้น กฎหมายกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ผู้เขียนหรือผู้ที่ผลิตบทความนั้นๆ ได้ลิขสิทธิ์ในบทความตั้งแต่เมื่อเขียนหรือทำบทความนั้นเสร็จ ไม่ได้ขึ้นกับว่าเผยแพร่บทความนั้นเมื่อไร

ซึ่งตามคำพิพากษาฎีกานี้เป็นการตีความว่าโจทก์ได้ลิขสิทธิ์ในบทความของตนเองเมื่อใด เพราะในคำฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าได้เขียนงานหรือได้ลิขสิทธิ์ในบทความตั้งแต่เมื่อใดมาอย่างชัดเจน

แต่ตามพฤติการณ์ตามคำฟ้องที่โจทก์ได้บรรยายมานั้น งานเขียนของโจทก์เป็นบทความเกี่ยวกับข่าวเศรษฐกินและการสัมภาษณ์คนบุคคลในช่วงเดือนมกราคมถึงช่วงเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

ศาลจึงพอประมาณได้ว่าบทความของโจทก์น่าจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานั้น นั่นจึงหมายความว่าลิขสิทธิ์ในบทความของโจทก์ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเช่นนั้น นี่คือการตีความเบื้องต้นว่าโจทก์ได้ลิขสิทธิ์ในบทความของตัวเองตั้งแต่เมื่อใด

ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้โฆษณาบทความของตนเองตั้งแต่เมื่อใด เพื่อจะชี้ให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้ลิขสิทธิ์ในบทความตั้งแต่เมื่อใด ศาลก็พออนุมานได้ว่าโจทก์ได้ลิขสิทธิ์ในบทความในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ดังนั้นฟ้องของโจทก์จึงเท่ากับได้บรรยายแล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทความแล้ว

เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องต่อว่าจำเลยทั้งเจ็ด ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการบรรยายถึงวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าว จึงสามารถทำให้จำเลยทั้งเจ็ดพอเข้าใจได้จำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำความผิดแล้ว

ถึงแม้ว่าโจทก์จะไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งมาในคำฟ้องของตัวเองว่า การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดหลายกรรมหรือกรรมเดียวซึ่งมีผลต่อการลงโทษของศาลก็ตาม

เพราะถึงยังไงศาลก็ยังต้องพิจารณาจากคำฟ้องและการกระทำความผิดของจำเลยอยู่ดี เพราะการจะพิจารณาว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นหน้าที่ของศาล ที่จะพิจารณาให้ได้ความจริง เพื่อการลงโทษจำเลยที่ถูกต้อง

ดังนั้นแม้ในคำฟ้องโจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมก็ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

และถึงแม้คดีนี้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งโจทก์จะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่รู้ถึงการกระทำละเมิดมิเช่นนั้นจะขาดอายุความก็ตาม

แต่โจทก์ก็ได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเองภายใน 3 เดือน นับแต่รู้ถึงการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ดังนั้นคดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามกฎหมายได้