นาย ก. กับ นาง ข. หย่ากันและให้ นาง ข. จัดการมรดก นาง ข.เอาที่ดินสินสมรสให้ นาย ค.เก็บค่าเช่า ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2559

โจทก์ที่ 1 กับ อ. จดทะเบียนการหย่าโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีการทำบันทึกแบ่งสินสมรส ให้ อ. ดำเนินการเกี่ยวกับสินสมรสและภาระหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า หากยังมีเหลืออยู่เท่าใด อ. จะยกให้แก่บุตรทั้งสอง อ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเก็บค่าเช่ากับจำเลยที่ 2 ซึ่งตามสัญญา ในข้อ 1 ระบุว่าผู้โอนสิทธิเป็นผู้มีสิทธิในการเก็บค่าเช่าห้องพักบนที่ดิน เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินตามบันทึกแบ่งสินสมรส ซึ่ง อ. ทราบอยู่แล้วว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ อ. การที่ อ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเก็บค่าเช่า โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ทราบเรื่องและไม่ให้ความยินยอมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง

นาย ก กับ นาง ข หย่ากันและให้ นาง ข จัดการมรดก นาง ข เอาที่ดินสินสมรสให้ นาย ค เก็บค่าเช่าได้หรือไม่?

กรณีสามีและภรรยาจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีผลในทางกฎหมายหลายๆ อย่างที่ได้จากการจดทะเบียนสมรสนั้น และก็อาจมีการเสียสิทธิบางอย่างสำหรับคนที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งในเรื่องทรัพย์สิน และเรื่องบุตรที่เกิดขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลต่อกฎหมายหลายๆ อย่าง รวมไปถึงการเรียกเงินที่เกิดจากการได้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเกิดจากการจดทะเบียนสมรสด้วย

และเมื่อมีการหย่าขาดจากกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลในเรื่องการจัดการทรัพย์สินที่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดด้วย โดยปกติแล้วทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้มาระหว่างสมรส จะเป็นสินสมรส ซึ่งมีผลคือ ทั้งสามีและภรรยามีสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละครึ่งหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อมีการจดทะเบียนหย่ากันถูกต้องตามกฎหมายก็จะต้องแบ่งทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสคนละกึ่งหนึ่งด้วย

แต่กรณีตามคำพิพากษาฎีกานี้ สามีและภรรยาได้ตกลงจดทะเบียนหย่ากันโดยถูกต้องตามกฎหมาย และยังได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องการจัดการทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสไว้ด้วยแล้ว โดยตกลงให้ อ. เป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสนั้น ดังนั้นการจัดการสินสมรสจึงเป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ท้ายทะเบียนหย่า

แต่เมื่อ อ. ได้เข้าจัดการสินสมรสกลับมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิการเก็บค่าเช่ากับจำเลยที่ 2 โดยในสัญญาที่ทำนั้นมีการระบุข้อสัญญาว่า ผู้โอนสิทธิเป็นผู้มีสิทธิในการเก็บค่าเช่าห้องพักบนที่ดิน ซึ่งที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นที่ดินตามบันทึกแบ่งสินสมรส
ที่ดินนั้นจึงเป็นของสามีและภรรยาคนละกึ่งหนึ่ง ดังนั้นการที่ อ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำการโอนสิทธิการเช่ากับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องการจัดการสินสมรสของสามี โดยที่สามีไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยแต่ประการใด

ดังนั้นสัญญาที่ อ. มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำการโอนสิทธิการเช่ากับจำเลยที่ 2 จึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นสามี

และ อ. อดีตภรรยาจะอ้างว่าโจทก์หรืออดีตสามีได้มอบอำนาจให้ตนเองเป็นคนจัดการเรื่องสินสมรสก็ตาม อ. ก็ไม่สามารถอ้างได้ เพราะแม้โจทก์จะมอบให้ อ. เป็นผู้จัดการสินสมรสก็จริง แต่ก็หมายความว่า อ. จะต้องจัดการสินสมรสไปในทางที่ถูกที่ควร และยังต้องเป็นการจัดการสินสมรสโดยต้องแจ้งให้โจทก์ทรายด้วย

และการจัดการสินสมรสจะต้องไม่ทำให้โจทก์เสียหายด้วย ซึ่งการที่ อ. มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำการโอนสิทธิการเช่ากับจำเลยที่ 2 เห็นได้ชัดว่าเป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ประกอบกับโจทก์ไม่ทราบเรื่องและไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าครั้งนี้ ดังนั้นสัญญาฉบับนี้จึงไม่ผูกพันโจทก์ ไม่มีผลบังคับใช้ได้นั่นเอง