โพสหมิ่น ม.112 ก่อนปฏิวัติ 2557 แต่ยังไม่ลบ – อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

Exclusive ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

คำวินิจฉัยที่ 94/2558

ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ กำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารและประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ก็กำหนดให้คดีที่เกี่ยวโยงกันอยู่ในอำนาจของศาลทหารด้วย โดยประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ พ.ค.๒๕๕๗ แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดโดยนำข้อความและภาพล้อเลียนอันเป็นเท็จและเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และจำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ โดยกระทำความผิดตั้งแต่ก่อนใช้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดมาจนกระทั่งภายหลังจากมีการประกาศใช้ประกาศดังกล่าวทั้งสองฉบับแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและเป็นการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ดังนั้น จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

ที่ ๙๔/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗

ศาลทหารกรุงเทพ

ระหว่าง

ศาลอาญา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ

ศาลทหารกรุงเทพโดยสำนักตุลาการทหาร กรมพระธรรมนูญส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี

เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ อัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ ยื่นฟ้องนายสิรภพ กรณ์อรุษ จำเลย ต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นคดีดำที่ ๘๓ ก./๒๕๕๗ ความว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนได้กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ข้อ ๑ และมีการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน อันประกอบด้วย การกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันในระหว่างที่ประกาศทั้งสองฉบับใช้บังคับ กล่าวคือ ข้อ ก. เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวโยงกัน จำเลยบังอาจใส่ความ หมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ต่อบุคคลที่สามและประชาชน กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยบังอาจเขียนและนำบทกลอนซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ลงในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท โดยใช้นามแฝงทางอินเตอร์เน็ตว่า “รุ่งศิลา” และบทความซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บบอร์ดของเว็บไซด์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ข. เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวโยงกัน จำเลยบังอาจใส่ความหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ รัชกาลปัจจุบัน ต่อบุคคลที่สามและประชาชน กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยบังอาจลงข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บไซต์ Facebook ชื่อบัญชี “Sira Rungsira” โดยใช้นามแฝงทางอินเตอร์เน็ตว่า “รุ่งศิลา” ข้อความและภาพการ์ตูนซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บไซต์ดังกล่าว จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ค. เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวโยงกัน จำเลยบังอาจใส่ความ หมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ รัชกาลปัจจุบัน ต่อบุคคลที่สามและประชาชน กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยบังอาจลงข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บไซต์ http://rungsira.blogsport.com/2014/01/blog-post_22.html โดยใช้นามแฝงทางอินเตอร์เน็ตว่า “รุ่งศิลา” ข้อความและ ภาพการ์ตูนล้อเลียนซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ก็ยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บไซต์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการนำเข้าสู่ เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พระมหากษัตริย์ ผู้อื่นหรือประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งบุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์สามารถรับรู้ข้อมูลดังกล่าว จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลย ในคดีดำ ที่ ๔๐ ก./๒๕๕๗ ของศาลทหารกรุงเทพ ฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกบุคคลให้มารายงานตัว ขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ , ๙๑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔๑) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ กับขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีดำที่ ๔๐ ก./๒๕๕๗ ของศาลทหาร

จำเลยให้การปฏิเสธ และยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีดำที่ ๔๐ ก./๒๕๕๗

จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๔ ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ข้อ ๑๔ (๑) และ (๕) อีกทั้งการกระทำของจำเลยตามฟ้องเกิดขึ้นก่อนที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ คดีจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยนำข้อความและภาพล้อเลียนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ข้อความและภาพล้อเลียนยังคงปรากฏในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดมา โดยจำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้ข้อความและภาพล้อเลียนดังกล่าวปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป การกระทำของจำเลยจึงยังคงเป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดมา จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบ อันเป็นเวลาระหว่างมีประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ มีผลบังคับใช้แล้ว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำความผิดในฟ้องแต่ละข้อด้วยการนำข้อมูล คอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น การกระทำดังกล่าวมีผลสำเร็จทันทีเมื่อลงข้อมูลครบถ้วนตั้งแต่วันที่นำเข้าสู่ระบบตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่านอกจากวันที่จำเลยลงมือกระทำความผิดในฟ้องแต่ละข้อ แล้วนั้น จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดด้วยการนำข้อมูลในครั้งแรกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในวันอื่นอีก กรณีจึงไม่ใช่เป็นความผิดที่ยืดออกไป เนื่องจากไม่มีการกระทำหลายอย่างโดยผู้กระทำความผิดคนเดียวกัน เพียงแต่การกระทำในฟ้องแต่ละข้ออันเป็นกรรมเดียวกันนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งกรณีไม่ใช่ เป็นความผิดต่อเนื่องซึ่งเป็นความผิดที่เกิดขึ้นติดต่อสืบเนื่องกันตลอดเวลาชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะมิได้มีลักษณะเป็นความผิดที่มีทั้งการกระทำและเจตนาประกอบกันอยู่ตลอดเวลาที่การกระทำนั้นยังปรากฏอยู่ เนื่องจากการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพียงครั้งเดียวในฟ้องแต่ละข้อนั้นเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว แม้จะปรากฏมีข้อความอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดไปก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำขึ้นใหม่หลังจากการกระทำของจำเลยในตอนแรก การที่ข้อความยังคงปรากฏอยู่นั้นเนื่องจากยังมิได้ถูกลบไป ไม่ว่าด้วยตัวจำเลยเองหรือการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม จะถือว่าจำเลยมีเจตนาให้ข้อความนั้นยังคงอยู่มิได้ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปว่าเมื่อมีการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว โดยสภาพของคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติทำหน้าที่เสมือนสมองกลถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสามารถใช้เป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่ได้โปรแกรมเข้าไปแล้วจะเก็บรักษาข้อมูลนั้นไว้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลนั้นทิ้งไป กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยมีเจตนาประสงค์ให้ข้อมูลที่นำเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์แล้วคงอยู่ตลอดไป จำเลยเพียงแต่มีเจตนาเผยแพร่ข้อความของตนเท่านั้น การที่จะตีความให้จำเลยยังต้องรับผิดในผลทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นการตีความในทางอาญาที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลย และการอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อเนื่องนั้นเป็นการตีความในลักษณะเอาอายุความมาแทนผลของการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อการกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดสำเร็จและมิใช่ความผิดต่อเนื่อง ทั้งเกิดขึ้นก่อนที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ มีผลใช้บังคับแล้ว คดีจึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย

ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร

คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยกระทำความผิด ๓ กรรมต่างกัน โดยประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน กล่าวคือ ข้อ ก. เมื่อระหว่าง วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยเขียนบทความและบทกลอนอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แล้วนำบทความและบทกลอนดังกล่าว เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท และบทความและบทกลอนยังคงปรากฏเรื่อยมา ในเว็บบอร์ดของเว็บไซด์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ข. เมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยลงข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บไซต์ Facebook อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และข้อความและภาพล้อเลียนดังกล่าวยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บบอร์ดของเว็บไซด์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ และข้อ ค. เมื่อระหว่างวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยลงข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเว็บไซต์ http://rungsira.blogsport.com/2014/01/blog-post_22.html อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวยังคงปรากฏเรื่อยมาในเว็บไซต์ดังกล่าวจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และมาตรา ๙๑ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔๑) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยกำหนดให้การกระทำความผิดตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักรและในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

(๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร โดยกำหนดให้บรรดาคดีความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษาตามประกาศ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับอื่น ถ้าคดีใดประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเองและไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาด้วย

เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องเกี่ยวโยงกันตั้งแต่ก่อนใช้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ จนภายหลังมีการประกาศใช้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยเริ่มกระทำความผิด ๓ กรรม ดังนี้ กรรมแรก เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ กรรมที่สอง เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ และกรรมที่สาม เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ ตามลำดับ โดยจำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พระมหากษัตริย์ และจำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ต่อมาวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้ประกาศ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ให้คดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งคดีที่ประกอบไปด้วยการกระทำหลายอย่างที่เกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร หลังจากนั้น ข้อความและภาพล้อเลียนของจำเลยยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดมาจนกระทั่งถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ดังนี้ แม้จำเลยจะเริ่มกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ และวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ จะมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ข้อความและภาพล้อเลียนยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดมาจนกระทั่งถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันที่ภายหลังจากมีการประกาศใช้ประกาศดังกล่าวทั้งสองฉบับแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและเป็นการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ดังนั้น จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง อัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ นายสิรภพ กรณ์อรุษ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร