หมิ่นประมาท – ไม่หมิ่นประมาท ให้ดูที่ 5 องค์ประกอบความผิด

ประมวลกฎหมายอาญา

“หมิ่นประมาท” เป็นคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อย โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว เรามีโซเชียลมีเดียที่สามารถส่งผ่านข้อความไปยังบุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ยิ่งทำให้เกิดปัญหาการหมิ่นประมาทมากขึ้น

ถ้าจะสังเกตุให้ดีจะเห็นว่าคดีความเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทในยุคสมัยนี้จะมีมากกว่าสมัยก่อนๆ มาก เหตุผลก็เพราะโซเชียลมีเดียนี้เอง โดยสมัยก่อนการที่จะหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะ หรือ หมิ่นประมาทดารานักแสดงเป็นไปได้ยากมาก เพราะต้องอาศัยตัวกลางคือ สื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เท่านั้น ข้อความดังกล่าวถึงจะสื่อไปยังบุคคลที่ 3 ได้

แต่ในสมัยนี้แค่เราออนไลน์ ก็สามารถส่งข้อความใดๆ ออกไปได้อย่างรวดเร็ว และข้อความดังกล่าวปรากฎต่อบุคคลที่ 3 ได้เป็นจำนวนมากในวงกว้าง

ด้วยเหตุผลนี้ การหมิ่นประมาทจึงเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันอย่างมากมายในยุคปัจจุบัน

แล้วคำพูดแบบไหนเข้าข่ายหมิ่นประมาท – คำพูดแบบไหนไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ระบุไว้ว่า

ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบที่เป็นความผิดในมาตรานี้มี 5 องค์ประกอบ

องค์ประกอบที่ 1 – “การใส่ความ”

หมายถึงการใส่ร้ายเขา โดยข้อความที่มีลักษณะเป็นเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง

ข้อยกเว้น

– การพูดแบบเลื่อนลอย ที่ใครๆ ได้ฟังก็รู้ว่าไม่มีทางเป็นจริง
– การคาดคะเน โดยไม่ยืนยันข้อเท็จจริง

องค์ประกอบที่ 2 – “ผู้อื่น”

หมายถึง ผู้ที่ถูกใส่ร้าย อาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ต้องเป็นการใส่ร้ายที่ระบุตัวตน หรือ ยืนยันตัวบุคคลได้

ข้อยกเว้น

– การใช้ตัวย่อ เช่น “นาย ก.”  แบบนี้ไม่ผิดหมิ่นประมาท
– ใช้คำกว้างๆ เช่น “เจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ตำรวจคนหนึ่ง” หากการใส่ร้าย ถ้าบุคคลทั่วไปไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าหมายถึงใคร แบบนี้ไม่ผิดหมิ่นประมาท

องค์ประกอบที่ 3 – “บุคคลที่สาม”

หมายถึง บุคคลที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่เป็นผู้ได้รับฟังถ้อยคำใส่ร้ายนั้นๆ

ข้อยกเว้น
หากบุคคลที่สาม ไม่สามารถเข้าใจถ้อยคำใส่ร้ายนั้นๆ ไม่ถือว่าผิดหมิ่นประมาท เช่น

– บุคคลวิกลจริต ที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้
– ชาวต่างชาติ ที่ไม่สามารถทำความเข้าใจในคำใส่ร้า่ยนั้นได้

องค์ประกอบที่ 4 – “เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง”

หมายถึง  บุคคลอื่นที่ถูกใส่ร้ายจะต้อง น่าจะ “เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง”

หมายเหตุ มีคำว่า “น่าจะ” หมายถึงแม้ตอนนี้อาจยังไม่เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่ก็ถือว่าความผิดหมิ่นประมาทสำเร็จไปแล้ว

องค์ประกอบที่ 5 – “มีเจตนา”

ต้องมีเจตนาให้บุคคลอื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง

ข้อยกเว้น
การว่ากล่าว ติเตือนด้วยความหวังดี โดยไม่ได้ตั้งใจให้บุคคลอื่นนั้น “เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง” ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา  “ไม่ผิดหมิ่นประมาท,

ไม่ผิดดูหมิ่นผู้อื่น”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559
การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้อง พิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด

ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่า เป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจ ได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติม ทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา  “ผิดหมิ่นประมาท,ผิดดูหมิ่นผู้อื่น”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559
จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า “เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล” อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6378/2555
จำเลยเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกิดเหตุแต่เกษียณอายุไปแล้วได้ทำหนังสือต่อว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการขณะเกิดเหตุเกี่ยวกับเรื่องการประเมิน ส. ครูในโรงเรียนว่า “ลองเอาแบบประเมินครูมาประเมินโจทก์ร่วม ให้คะแนนอย่างยุติธรรมดูซิว่าครูกับตัวโจทก์ร่วมมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด โจทก์ร่วมทราบไหมว่าบางข้อเขาไม่มีหน้าที่ต้องทำและไม่ได้รับมอบหมายให้คะแนนศูนย์ มันยุติธรรมหรือไม่…” ข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงโจทก์ร่วมว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของครูว่า ประเมินอย่างไม่ยุติธรรม ซ้ำเติมไม่มีเมตตาธรรมต่อครู ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าโจทก์ร่วมมีพฤติกรรมในทางไม่ดี น่าระอาไม่เหมาะที่จะเป็นครูผู้บริหารของโรงเรียน การประเมินดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย และแม้จำเลยจะเคยเป็นครูผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวมาก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของโรงเรียนแต่อย่างใด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551
การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้อง พิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า “เฮงซวย” ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้ เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19384/2557
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักทหารกองบิน 2 เลขที่ 302/773 หมู่ที่ 7 ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย แล้วพูดใส่ความผู้เสียหายว่า “อีกะหรี่ อีหน้าหี อีหน้าหัวควย อีดอกทอง อีสัตว์” ต่อหน้าผู้เสียหายและ ฤ. อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนไม่ดีประพฤติชั่ว โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกผู้อื่นดูหมิ่น เกลียดชัง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362, 364 และ 393 ยกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท (ป.อ. มาตรา 326)