คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551
การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า “เฮงซวย” ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกล่าววาจาดูหมิ่นนายทรงศักดิ์ผู้เสียหาย ซึ่งหน้าว่า “เสร็จเรื่องนี้แล้วไม่ต้องมาเหยียบที่นี่อีก ไอ้ทนายเฮงซวย” ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 และนับโทษต่อจากคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ลงโทษปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลไม่ได้ลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า “เสร็จเรื่องนี้แล้วไม่ต้องมาเหยียบที่นี่อีก ไอ้ทนายเฮงซวย” นั้น เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่จะวินิจฉัยว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูหมิ่นหรือไม่ต้องพิจารณาตามความหมายของคำตามความรู้สึกของบุคคลทั่วไปว่าทำให้เกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังผู้ที่ถูกกล่าวหรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์พิจารณาแต่เพียงความหมายของคำตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เท่านั้น ซึ่งจำเลยเห็นว่าคำพูดว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” ตามความรู้สึกของบุคคลทั่วไปไม่ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด คำพูดของจำเลยจึงไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย นั้น เห็นว่า การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าว หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังดังจำเลยฎีกา ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 คดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า “เสร็จเรื่องนี้แล้วไม่ต้องมาเหยียบที่นี่อีก ไอ้ทนายเฮงซวย” เนื่องจากความไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของผู้เสียหาย โดยกล่าวในขณะที่มีเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไปตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาและพี่น้องของจำเลยซึ่งผู้เสียหายรับเป็นทนายความอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า “เฮงซวย” ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาความหมายคำว่า “เฮงซวย” ตามพจนานุกรม และวินิจฉัยว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน