จำไว้ให้ดี! จะฟ้องเหตุผู้รับมรดกประพฤติเนรคุณ ต้องฟ้องภายใน 6 เดือนหลังมีเหตุเนรคุณ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2430/2548

โจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรสาว ต่อมาโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินบางส่วนให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2540 จำเลยบันดาลโทสะพูดกับโจทก์ว่า จำเลยไม่จัดการโอนที่ดินให้โจทก์เพราะโจทก์ได้ยกที่ดินให้จำเลยแล้ว ถ้าอยากได้เก่งจริงก็ให้ไปฟ้องศาลเองเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ ขอให้ถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทที่โจทก์ยกให้จำเลย แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นเวลาล่วงพ้นกำหนดหกเดือนไปแล้ว ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง การจะฟ้องถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ต้องฟ้องภายในกำหนดหกเดือนนับแต่เหตุประพฤติเนรคุณได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2516 โจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 26 ให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรสาว โดยแท้จริงโจทก์ต้องการยกให้เพียง 11 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 3 ไร่ ทางฝั่งตะวันออกซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 5 ซึ่งโจทก์ครอบครองเป็นส่วนสัดจำเลยจะแบ่งแยกส่วนนี้ให้โจทก์ เมื่อเดือนตุลาคม 2540 จำเลยบันดาลโทสะพูดกับโจทก์ว่า จำเลยไม่จัดการเดินเรื่องให้เพราะไหน ๆ โจทก์ได้ยกที่ดินให้จำเลยแล้ว ถ้าโจทก์อยากได้ที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่ เก่งจริงก็ให้โจทก์ไปฟ้องศาลเอาเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ ขอให้ถอนคืนการให้ที่ดิน ส.ค. 1 ดังกล่าว โดยให้จำเลยจดทะเบียนโอนคืนแก่โจทก์ หากเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย มิฉะนั้นให้จำเลยแบ่งแยกที่ดิน ส.ค. 1 ดังกล่าวตามที่โจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของเป็นส่วนสัดต่างหาก ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้น 6 เดือน นับแต่เดือนตุลาคม 2540 คดีจึงขาดอายุความ จำเลยได้โอนที่ดินทั้งหมดให้แก่ผู้อื่นแล้ว จำเลยจึงไม่มีที่ดินเหลืออยู่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2516 โจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดิน ส.ค. 1 เนื้อที่ 14 ไร่ ตามฟ้องให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรสาว แต่ยกให้จริงเพียงจำนวน 11 ไร่ ต่อมาที่ดินพิพาทได้ออกเป็นโฉนดที่ดินและแบ่งแยกเป็น 5 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 6448 ถึงเลขที่ 6452 และโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินบางส่วนของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ปลูกบ้านที่โจทก์อยู่อาศัยเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ ทางฝั่งตะวันออกให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2540 จำเลยบันดาลโทสะพูดกับโจทก์ว่า จำเลยไม่จัดการโอนที่ดินให้โจทก์เพราะไหน ๆ โจทก์ได้ยกที่ดินให้จำเลยแล้ว ถ้าอยากได้ส่วนที่ครอบครองอยู่เก่งจริงก็ให้ไปฟ้องศาลเอา เป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ ขอให้ถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทแต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นเวลาล่วงพ้นกำหนดเวลาหกเดือนไปแล้วซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 533 วรรคหนึ่ง การจะฟ้องถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณนั้น ต้องฟ้องภายในกำหนดหกเดือนนับแต่เหตุประพฤติเนรคุณได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ คดีส่วนนี้ของโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์จะอ้างว่าแท้จริงแล้วโจทก์มาทราบว่าจำเลยออกโฉนดไม่มีชื่อโจทก์หลังวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 อันเป็นวันออกโฉนด จำเลยไปบ้านโจทก์เกิดโต้เถียงท้าทายกันว่า ถ้าอยากได้ก็ให้ไปฟ้องเอา ซึ่งหากนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันฟ้องวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ยังไม่เกิน 6 เดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เป็นการอ้างนอกจากที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ไม่ได้แก้ไขคำฟ้องแต่อย่างใด ทั้งจำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่า โจทก์ฟ้องคดีพ้น 6 เดือนนับแต่เดือนตุลาคม 2540 คดีจึงขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อฟังว่าคดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณขาดอายุความแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าถ้อยคำกล่าวของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรงดังโจทก์ฎีกาหรือไม่”

พิพากษายืน