คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจน! ศาล “ประเมินความเสี่ยง-ประกันมือเปล่า” 57 นาทีจบ

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

วานนี้ (9 มี.ค.63) เวลา 12.30 น. ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกา เรื่องการยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพผู้ต้องหาและจำเลย เดินทางมายังศาลจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่อาคารเดียวกับสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 3 มี นายพิศิฏฐ์ สุดลาภา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 นายราชัญ กวีกุล หัวหน้าศาลจังหวัดนครราชสีมา นายนิติธร ศรีบุตร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 3 ให้การต้อนรับ

ในการนี้ คณะทำงานอาทิ น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานแผนกล้มละลายในศาลฎีกา นายสุรินทร์ ชลพัฒนา เลขาธิการประธานศาลฎีกาในฐานะตัวแทน นายไสลเกษ วัฒนพันธ์ ประธานศาลฎีกา นายนาวี สกุลวงศ์ธนา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา พร้อมกับรับฟังปัญหาประมาณ 100 คน

นางเมทินี กล่าวว่า นโยบายของประธานศาลฎีกา เน้นหนักเรื่องการให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกรองรับโดยรัฐธรรมนูญว่า ตราบใดศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ให้ถือว่าเป็นผู้บริสทธิ์ ให้ได้รับการปล่อยตัว ดังนั้น การเดินหน้าให้ความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพให้เขาเข้าถึงการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องทำต่อไป


ขณะเดียวกัน ต้องรักษาความสมดุลของเหยื่ออาชญากรรมว่า มีความรู้สึกสังคมสงบและปลอดภัย การปกป้องผู้เสียหายและเหยื่ออาชญากรรมเป็นเรื่องต้องดำเนินการควบคู่ คดีที่มีผู้เสียหายเป็นพยานเป็นเด็ก เพราะเด็กจะมีความทรงจำต่อคดี ต้องให้เด็กกระทบน้อยที่สุด ดังนั้น คดีต้องเสร็จใน 6 เดือน นับแต่วันตรวจพยานหลักฐาน การให้เด็กชี้ตัว การสืบพยานจะจัดสถานที่ บุคคลที่เด็กไว้ใจและนักจิตวิทยานักสังคมสงเคราะห์อยู่ร่วมใกล้ชิด ส่วนอาญาต้องมีองค์คณะที่เข็มแข็ง มีการนั่งพิจารณาทำคำพิพากษาที่มีคุณภาพ การเยียวยาค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งต้องได้เงินเร็ว เหมาะสมกับความสูญเสียพร้อมดอกเบี้ยเต็มและต้องมีวิธีการนำคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาให้ได้รับค่าทดแทนความเสียหายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การปล่อยตัวสองรูปแบบ หนึ่ง เรื่องขจัดอุปสรรคด้านเวลา ประชาชนยื่นประกันตัวได้ทุกวัน ปล่อยในวันนั้น ถ้าไม่ปล่อยต้องทราบผลในนั้น ถ้าจะส่งศาลสูงต้องส่งใน 1 ชั่วโมง สอง เรื่องรูปแบบ ต้องมีความสะดวกรวดเร็วลดความเหลื่อมล้ำ เอาเงินเก็บไว้ให้ลูกไปโรงเรียนหรือหาหลักฐานมาสู้คดีในศาลดีกว่า รูปแบบคือ มีหลักทรัพย์ ไม่มีหลักทรัพย์ที่ใช้วิธีการและเงื่อนไข ตามกฎหมายใหม่ประกอบ

สำหรับการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในขณะนี้ มี 3 ระดับดุลยพินิจ หนึ่งให้ปล่อยโดยไม่ต้องมีสัญญาประกันเลยใช้กับคดีเล็กน้อย สอง ปล่อยโดยให้ทำสัญญาประกันแต่ไม่มีหลักประกัน สาม ให้ปล่อยชั่วคราวโดยทำสัญญาประกันและมีหลักประกัน แต่หลักทรัพย์ค่อยหามายื่นภายหลังได้ นอกจากนี้ ผู้พิพากษาอาจใช้ดุลยพินิจวางเงื่อนไขประกอบเช่น ให้ใส่กำไลข้อเท้าโดยไม่ต้องวางหลักประกัน สำหรับการตรวจสอบการเตือนว่าเขาจะหนีหรือเข้าเขตที่ห้ามหรือไม่

“คดีความผิดทางเพศ หรือทำร้ายร่างกาย ปัจจุบันยังมีวิธีการใหม่ที่ผู้พิพากษายังไม่นิยมใช้อีก 2 แบบ ที่ขอให้ประชาชนได้ทราบคือ 1 การร้องขอให้ใช้แบบประเมินความเสี่ยง ที่เป็นเอกสารแผ่นเดียวกับคำร้องขอปล่อยตัว ตัวอย่าง เช่น เมื่อนาย ก.ถูกนำตัวจากโรงพักมาฝากขัง ตัวผู้ต้องหาจะถูกขังญาติจะอยู่หน้าเคาน์เตอร์เตรียมขอประกันและในมือมีหลักทรัพย์ที่อาจไปหยิบยืมหรือเช่ามาจากนายประกัน คราวนี้เจ้าหน้าที่จะบอกว่า ให้ใช้แบบประเมินความเสี่ยงนะ โดยกรอกแบบสอบถาม50ข้อ เมื่อตอบเสร็จเจ้าหน้าที่กดข้อมูลลิงก์ไปยังตำรวจ ฝ่ายปกครอง ศาลยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ใช้เวลาจุดนี้ 12 นาที แล้วเมื่อได้ผลออกมาว่า “ความเสี่ยงต่ำ” เจ้าหน้าที่จะเสนอผู้พิพากษาเวรประกัน เพื่อใช้ดุลยพินิจไม่เกิน 45 นาที รวม 57 นาที จากเดิมยื่นเช้าสั่งเย็น แต่เรื่องนี้ขอให้ผู้พิพากษามีความกล้าที่จะให้ประกัน ไม่มีใครถูกสอบวินัยเพราะให้ประกัน”