เคยโดนกลุ่ม จยย.รุมทำร้าย วันเกิดเหตุขับรถยนต์พุ่งชนกลุ่ม จยย. มีคนไม่ได้รุมทำร้ายตนตาย 2 คน อ้างเหตุบันดาลโทสะได้หรือไม่?

ประมวลกฎหมายอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

เคยโดนกลุ่ม จยย. รุมทำร้าย วันเกิดเหตุขับรถยนต์พุ่งชนกลุ่ม จยย. มีคนไม่ได้รุมทำร้ายตนตาย 2 คน อ้างเหตุบันดาลโทสะได้หรือไม่?

จะเห็นจากข่าวได้บ่อยครั้ง ที่มีการทำร้ายอีกฝ่ายโดยอ้างเหตุบันดาลโทสะ ที่เกิดจากการยั่วให้ตนกระทำความผิด โดยเป็นการอ้างว่าจำเป็นต้องกระทำความผิดเพราะฝ่ายนั้นเป็นผู้ก่อให้ตัวเองต้องทำความผิดนั่นเอง

ซึ่งตามที่กฎหมายกำหนดนั้น การกระทำความผิดโดยอ้างเหตุบันดาลโทสะนั้น ผู้กระทำความผิดยังถือว่ามีความผิด เป็นจำเลยที่ได้ทำผิดตามกฎหมายอยู่ เพียงแต่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า ศาลจะไม่ลงโทษหรือลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล โดยศาลอาจดูจากความร้ายแรงของการกระทำความผิดประกอบกับเหตุจูงใจที่เกิดจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยต้องทำความผิดนั้น

ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นจริงตามคำตัดสินของศาลฎีกาคือ จำเลยได้ขับรถยนต์ตั้งใจฝ่าและพุ่งเข้าชนรถมอเตอร์ไซค์ที่ผู้เสียหายที่ 1 และ ท ขับมา โดยคันที่ผู้เสียหายที่ 1 ขับอยู่มี  พ. ซ้อนท้าย และคันที่ ท ขับมา มี ข ซ้อนท้ายอยู่

โดยก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกได้เข้าร่วมทำร้ายจำเลย และมี ท และ ข อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย แต่ไม่ปรากฎว่าในขณะเกิดเหตุที่ผู้เสียหายได้เข้ารุมทำร้ายจำเลยด้วย ทั้ง ท และ ข เพียงแต่ยืนอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุใกล้ๆ เท่านั้น

และทั้ง ท และ ข ก็ไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการสนับสนุนหรือยุยงพูดให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความฮึกเหิมในการทำร้ายจำเลยด้วยเลย  ตามกฎหมายจึงไม่ถือว่าทั้ง ท และ ข เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้เสียหายกระทำความผิด และไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย

แม้ ท และ ข จะซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ผู้กระทำความผิดมาด้วยก็ตาม แต่ในขณะเกิดเหตุ ทั้งคู่ไม่ได้เข้าช่วยหรือรุมทำร้ายจำเลยด้วยเลย

ดังนั้นการที่เมื่อจำเลยเห็นผู้เสียหายที่ 1 กับพวก ขับมอเตอร์ไซค์อยู่ และตั้งใจขับรถยนต์ฝ่าเข้าพุ่งชนมอเตอร์ไซค์ทั้ง 2 คัน โดยไม่สนใจว่าจะมีใครได้รับอันตรายนอกจากผู้เสียหายที่ 1 กับพวกที่รุมทำร้ายตัวเองเท่านั้น

จำเลยจึงไม่สามารถอ้างว่าตัวเองได้กระทำความผิดเพราะเหตุบันดาลโทสะ ที่ตัวเองได้ถูกผู้เสียหายที่ 1 กับพวกรุมทำร้ายมาก่อนหน้านั้นแล้วได้เลย

เพราะทั้ง ท และ ข ไม่ได้เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยเลย จึงไม่สามารถอ้างว่าขับรถยนต์ชนเพราะเหตุบันดาลโทสะ และก็ไม่สามารถอ้างเหตุอื่นได้เลย เพราะศาลพิจารณาว่ารถยนต์มีขนาดใหญ่และมีแรงปะทะสูง เมื่อขับพุ่งชนรถมอเตอร์ไซค์อย่างแรง จึงสามารถมองเห็นได้ว่าจะต้องมีผู้บาดเจ็บสาหัส กรณีนี้จำเลยจึงจะอ้างเหตุบันดาลโทสะไม่ได้เลย