คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2562
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
สำหรับการกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 3 ขับมาจนทำให้ผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ แล้วจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ซอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทาง เป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
เมื่อปรากฏหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยกราบขอขมาผู้เสียหายทั้งสามต่อหน้าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและปลัดหมู่บ้าน โดยผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้อภัยจำเลยและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้เสียหายที่ 3 ได้ยินยอมแทนผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์แล้ว อันเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) เป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ
หลายคนยังคงเข้าใจผิดโดยยังแยกไม่ออกระหว่าง “อนาจาร” กับ “ข่มขืนชำเรา” ซึ่งตามกฎหมายได้แยกความรุนแรงของ 2 อย่างนี้ไว้ต่างกัน โดยการข่มขืนชำเราจะมีโทษที่รุนแรงกว่า เพราะการอนาจารตามกฎหมายยังไม่ถึงขั้นข่มขืนกระทำชำเรา แต่เป็นเพียงการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ
ที่ว่าไม่สมควรทางเพศคือการกระทำอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำทางเพศแก่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการกอด จูบ ลูบคลำ หรือการกระทำที่ส่อไปในทางเพศที่คนทั่วไปมองดูแล้วไม่เหมาะสม
แม้เด็กอายุ 10 ขวบนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม การที่จำเลยได้กอด จูบ ลูบคลำเด็กนั้น ก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ดี หากพ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย คนที่ดูแลเด็กนั้นไม่ให้ความยินยอมตั้งแต่ขั้นที่จำเลยได้พาเด็กนั้นออกจากบ้านไป
ตามกฎหมายเรียกว่าเป็นการพรากไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือการพาไปโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้ปกครองนั่นเอง
มีคดีที่เพิ่งตัดสินมาหมาดๆ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2562 คลายข้อสงสัยของหลายคนว่า เมื่อจำเลยกระทำอนาจารเด็กอายุ 10 ขวบ แล้วต่อมาสำนึกผิดจนได้พาผู้ใหญ่มาขอขมาพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองของเด็กนั้น ความผิดจะหมดไปหรือไม่
ศาลได้ตัดสินไว้แล้วว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยฉุดกระชากลากถูเด็ก และได้ดึงเข้าไปในไร่มันสำปะหลังโดยเด็กไม่ยินยอม จากนั้นจึงกอด จูบ ลูบคลำอวัยวะตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งได้จับนมเด็กนั้นด้วย
ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารทางกฎหมายแล้ว และยังเป็นการพรากเด็กไปจากความปกครองของผู้ที่ดูแลเด็กนั้นด้วย ถือว่าเป็นความผิดทางอาญามีโทษถึงขั้นติดคุก
แต่จากนั้นจำเลยได้พาผู้ใหญ่ฝ่ายตนเอง ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และปลัดอำเภอ ที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ที่น่าจะได้รับความเกรงอกเกรงใจ หรือมีความน่าเชื่อถือ เข้ามาขอขมาผู้ปกครองของเด็กนั้น
จากนั้นผู้ปกครองจึงยกโทษให้จำเลย โดยไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยอีกต่อไป ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังทำร้ายตามกฎหมาย ก็ยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ดี
เพียงแต่ความผิดตามฐานนี้เป็นความผิดที่สามารถตกลงยอมความกันได้ ดังนั้นหากจำเลยสามารถตกลงและขอโทษผู้ปกครองของเด็ก จนผู้ปกครองนั้นยกโทษให้ ก็ถือว่าผู้ปกครองนั้นยกโทษให้จำเลยแทนเด็กที่อยู่ในความดูแลของตัวเองด้วย
เมื่อความผิดฐานนี้เป็นความผิดที่สามารถตกลงยอมความกันได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้ปกครองของเด็กยกโทษให้จำเลย โดยไม่เอาเรื่องกับจำเลยตามกฎหมายอีกต่อไป การจะฟ้องร้องจำเลยข้อหานี้จึงไม่มีสิทธิอีกต่อไป เพราะความผิดนี้ได้ระงับไปตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือผู้เสียหายเองก็ไม่สามารถฟ้องร้องจำเลยข้อหานี้ได้อีก