ท้าทายว่าจะฆ่ากันทางโทรศัพท์ ต่อมาขับรถไปเจอกันกลางทาง เลยยิงปืนใส่ผู้ตาย ถือเป็นไตรตรองไว้ก่อนหรือไม่?

ประมวลกฎหมายอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2561

การกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ และการจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด แม้การท้าทายถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์คิดไตร่ตรองจะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธคำท้าทายของจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่สามารถเริ่มลงมือกระทำแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำท้าทายได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามรู้ว่าหลังจากวางสายโทรศัพท์แล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ไปไหนหรืออยู่ที่ใด และจำเลยทั้งสามออกตามหาโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อไปหรือไม่ กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสามมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงโจทก์ร่วมที่ 2 ทันที ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนจัดเตรียมของจำเลยทั้งสาม แต่เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันทีที่ขับรถมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 โดยบังเอิญ ส่วนการตามไล่ยิงไปอย่างกระชั้นชิดจนถึงบ้านโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ยังได้ยิงเข้าไปในบ้านอีก 1 นัด เป็นเพียงการกระทำต่อเนื่องหลังจากประสบโอกาสที่จะยิงโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างทันทีทันใดเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน

ท้าทายว่าจะฆ่ากันทางโทรศัพท์ ต่อมาขับรถไปเจอกันกลางทาง เลยยิงปืนใส่ผู้ตาย ถือเป็นไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่?

การถูกลงโทษทางอาญาซึ่งศาลสามารถลงโทษให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น หรือที่ภาษากฎหมายเรียกกันว่า “เป็นบทฉกรรจ์” หมายถึงว่าเป็นการกระทำความผิดที่ศาลสามารถลงโทษได้สูงกว่าการกระทำความผิดตามปกตินั่นเอง

เช่นเดียวกับการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มีบทฉกรรจ์หรือบทหนักที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า หากใครที่กระทำความผิดตามบทหนักตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ก็จะต้องรับโทษสูงกว่าการกระทำความผิดบทธรรมดา

อย่างเรื่องการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาก็มีบทหนักหลายอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นบทหนักของการฆ่าแบบธรรมดา เช่น ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฆ่าโดยใช้วิธีการทารุณโหดร้าย ฆ่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นต้น ซึ่งการฆ่าผู้อื่นตามบทหนักเช่นนี้ จำเลยจะได้รับโทษทางอาญาที่หนักกว่าการฆ่าแบบธรรมดา เพราะเป็นการฆ่าที่จำเลยไม่มีความสำนึก และเป็นวิธีการโหดร้าย กฎหมายจึงกำหนดเพื่อให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น

ตามคำพิพากษาฎีกานี้ มีการพูดตอบโต้กันทางโทรศัพท์และจำเลยทั้งสาม ได้พูดขู่โจทก์ร่วมที่ 2 ว่าจะไปฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งถือว่าเป็นการท้าทายกันทางโทรศัพท์ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการขู่อาฆาตและหวังว่าจะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำขู่ให้ได้นั่นเอง

แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ได้บอกปฏิเสธและไม่ได้ตอบกลับคำท้าทายนั้นอย่างไร จากนั้นทั้งคู่จึงวางสายโทรศัพท์กันไป

ซึ่งตามเหตุการณ์นี้ก็ไม่ปรากฏว่าหลังจากวางสายจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันขับรถตามหาโจทก์ร่วม หรือวางแผนต่อเนื่องว่าจะไปฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เพราะการจะเข้าหลักเกณฑ์ให้จำเลยต้องรับผิดหนักขึ้นในเรื่อง ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

จะต้องเป็นเรื่องการฆ่าที่สมคบกัน และมีการวางแผนกันเพื่อฆ่าโจทก์ร่วม แต่ตามเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามบังเอิญขับรถไปข้างนอกและได้เจอโจทก์ร่วมที่ 2 กำลังขับรถอยู่เท่านั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ที่มากับจำเลยอีก 2 คน เห็นโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ได้ใช้ปืนยิงไปที่โจทก์ร่วมที่ 2 ถือว่าเป็นการกระทำเฉพาะหน้าต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสามไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเจอโจทก์ร่วมที่ 2 บนท้องถนน

ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นบทหนักที่จะทำให้จำเลยทั้งสามได้รับโทษหนักขึ้น จำเลยทั้งสามคงผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายบทธรรมดา ซึ่งมีโทษน้อยกว่าบทหนักนั่นเอง