คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2562
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 20 เม็ด หรือหน่วยการใช้น้ำหนัก 1.819 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.187 กรัม กับอีก 6 เม็ด น้ำหนัก 0.54 กรัม น้ำหนักสารบริสุทธิ์ไม่ปรากฏชัด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มิได้บรรยายว่าจำเลยครอบครองเมทแอมเฟตามีนทั้ง 2 จำนวนดังกล่าวรวม 26 เม็ด ในคราวเดียวกัน แล้วจำหน่ายครั้งแรกให้แก่ผู้อื่นไป 20 เม็ด ส่วนที่เหลืออีก 6 เม็ด จำเลยมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วต่อมาพยายามจำหน่ายให้แก่ผู้อื่น ทั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ว่าตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ไม่ปรากฏว่าจำเลยครอบครองเมทแอมเฟตามีนในคราวเดียวกันทั้ง 26 เม็ด ซึ่งศาลฎีกาจำต้องถือตามในการวินิจฉัยข้อกฎหมายข้อนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 222 จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่าเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ (ก) และจำหน่ายไปตามฟ้องข้อ (ข) เป็นจำนวนเดียวกัน และเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องข้อ (ก) และพยายามจำหน่ายไปตามฟ้องข้อ (ค) เป็นจำนวนเดียวกัน ที่โจทก์ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายมาดังกล่าวเนื่องจากเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ที่เหลือ ผู้ตรวจพิสูจน์มิได้คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ให้ก็ดี จำเลยสามารถพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 6 เม็ด ให้แก่ผู้ซื้อได้ในวันเดียวกันกับที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ดแรกนั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอยู่แล้วในคราวเดียวรวม 26 เม็ด ก็ดี และศาลต้องลงโทษจำเลยเป็นสามกรรมว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 26 เม็ด จำหน่าย 20 เม็ด และพยายามจำหน่ายอีก 6 เม็ด นั้น ไม่อาจรับฟังได้ เพราะการครอบครองหรือจำหน่ายอาจเป็นการจัดหามาครอบครองเพื่อจำหน่ายใหม่ที่ละครั้ง และสามารถกระทำในวันเดียวกันได้อีกหลายๆ ครั้งก็ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย
อธิบายกฎหมาย
ฟ้องจำเลย 3 กรรม คือ 1.มียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 26 เม็ด 2.จำหน่ายยาบ้า 20 เม็ด 3.พยายามจำหน่ายยาบ้า 6 เม็ด ฟ้องได้หรือไม่?
การที่ศาลจะตัดสินว่าจำเลยมีความกรรมเดียวหรือหลายกรรมนั้น ส่งผลต่อการลงโทษแก่จำเลย เพราะหากเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่อเนื่องกัน ศาลสามารถลงโทษเรียงกระทงความผิดไปได้ จึงทำให้ศาลสามารถตัดสินความผิดแต่ละกรรมแบ่งแยกต่างหากจากกัน และลงโทษไปตามความผิดแต่ละกระทงได้ และนำโทษที่ลงไว้แต่ละกระทงความผิดนั้นมานับโทษต่อกัน จึงทำให้บางครั้งการลงโทษจำเลยเนื่องจากความผิดหลายกรรม มีจำนวนที่นานกว่าความผิดกรรมเดียวได้
แต่การจะเป็นความผิดหลายกรรมต่อเนื่องกันหรือเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น ศาลไม่ได้ดูจากการกระทำความผิดตามที่โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องเพียงอย่างเดียว
แต่ศาลจะพิจารณาจากข้อเท็จจริง จากการบรรยายคำฟ้องของโจทก์และจากที่กฎหมายกำหนดไว้ (หากมี) ในเรื่องที่เกี่ยวกับความผิดนั้นๆ ด้วย
ดังนั้นตามคำพิพากษาฎีกานี้ ถึงแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องเพื่อต้องการให้ศาลลงโทษจำเลยเรียงกระทงความผิดไป และอาจทำให้จำเลยต้องรับโทษที่นานกว่าการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่ศาลก็ต้องพิจารณาจากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นด้วย
ถึงแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องมาถึง 3 กรรม ว่า กรรมแรกจำเลยมียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 26 เม็ด และกรรมที่ 2 ได้จำหน่ายไป 20 เม็ด และสุดท้ายกรรมที่ 3 จำเลยพยายามจำหน่ายยาบ้า 6 เม็ด ก็ตาม
แต่ตามที่ศาลได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงและจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้น ปรากฎว่าจำเลยได้ครอบครองยาบ้าตั้งแต่ครั้งแรก 26 เม็ด และได้จำหน่ายไป 20 เม็ด และยาบ้าอีก 6 เม็ด จำเลยพยายามจำหน่ายไปในคราวสุดท้าย
ศาลฎีกาตัดสินว่าเป็นการกระทำความผิด 2 กรรม ไม่ใช่การกระทำความผิด 3 กรรมตามที่โจทก์ขอให้ศาลลงโทษตามฟ้อง เพราะโจทก์มุ่งหวังจะให้ศาลลงโทษจำเลยถึง 3 กรรม และแน่นอนว่าเมื่อศาลตัดสินลงโทษจำเลยถึง 3 กรรม จำเลยย่อมได้รับโทษสูงกว่าการลงโทษ 2 กรรม
แต่ศาลก็จำต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและจากพยานหลักฐานในสำนวน ดังนั้นในกรณีนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมีความผิด 2 กรรม เป็นการกระทำ 2 กรรมที่แบ่งแยกจากกัน
ถึงแม้โจทก์จะอ้างว่าจำเลยอาจได้ยาบ้ามาครอบครองในระหว่างวันอีกจำนวนต่างหาก และได้พยายามจำหน่ายยาบ้าที่เพิ่งได้ครอบครองมาใหม่ เพื่อหวังจะให้ศาลเห็นว่าจำเลยทำผิดหลายกรรมมากกว่า 2 กรรมก็ตาม
แต่ศาลฎีกาก็ตัดสินแล้วว่า กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำความผิดเพียง 2 กรรมเท่านั้น ดังนั้นศาลจึงลงโทษจำเลยได้ 2 กรรม ตามที่พิจารณาได้ความนั้น แม้ว่าโจทก์จะบรรยายฟ้องและอ้างเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิด 3 กรรมก็ตาม เพราะศาลฎีกาฟังเป็นยุติแล้วว่ายาบ้านั้นเป็นจำนวนเดียวกันกับการจำหน่ายและพยายามจำหน่ายในการกระทำความผิด 2 ครั้งหลัง