การอ้างสิทธิภายหลังขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจากการครอบครองปรปักษ์ต้องมีสาระสำคัญอะไรบ้าง?

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2561

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน และประกาศคำร้องขอทางหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน จึงเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 เมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ การดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้วและข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้คัดค้านไม่ปรากฏว่าผู้ร้องโต้แย้งสิทธิอย่างใดแก่ผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ผู้คัดค้านเพียงแต่อ้างว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องและขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้

 

การอ้างสิทธิภายหลังขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจากการครอบครองปรปักษ์ต้องมีสาระสำคัญอะไรบ้าง?

กรณีที่มีการยึดถือหรือเข้าครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นจนกระทั่งได้กรรมสิทธิ์ ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้นั้น จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กฎหมายได้กำหนดไว้ คือ

ต้องมีการครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดและต้องเป็นที่ดินของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนเองด้วย ดังนั้นหากเข้ายึดถือครอบครองที่ดินที่ไม่มีโฉนดเป็นที่ดินที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วยการครอบครองปรปักษ์

ต้องเป็นการครอบครองด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้า ไม่ใช่ครอบครองแบบลับๆ หรือหลบๆ ซ่อนๆ ต้องเป็นการเข้าครอบครองโดยแสดงเจตนาว่าต้องการเป็นเจ้าของในที่ดินแปลงนี้ เพราะหากเพียงทำกระท่อมเล็กๆ ชั่วคราวอยู่ก็อาจไม่เข้าหลักเกณฑ์นี้เช่นกัน

ข้อสุดท้ายจะต้องเป็นการครอบครองต่อเนื่องและติดต่อกันเป็นเวลา 10  ปี ซึ่งห้ามขาดตอนเด็ดขาด เพราะหากขาดตอนไม่ต่อเนื่องกัน ก็ต้องเริ่มต้นนับปีที่หนึ่งใหม่อีกครั้ง

กรณีตามคำพิพากษาฎีกานี้ผู้ร้องได้ทำตามหลักเกณฑ์ครบทุกข้อที่กล่าวมาแล้ว จึงได้มีคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์

ซึ่งศาลก็ได้ออกคำสั่งและดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดทุกขั้นตอนแล้ว ด้วยการสั่งให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องให้ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน เผื่อว่าผู้มีชื่อในโฉนดนั้นจะเข้ามาคัดค้านผู้ร้อง และยังให้ประกาศหนังสือพิมพ์รายวันอีกด้วย

แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลายื่นคำคัดค้านกลับไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านเข้ามา ศาลจึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยการครอบครองปรปักษ์

จากนั้นเมื่อผู้ร้องจะเข้าครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นที่ดินของผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว กลับมีผู้คัดค้านอยู่อาศัยและผู้คัดค้านก็ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาทุกขั้นตอนที่ออกคำสั่งไปนั้น

โดยอ้างว่าคำสั่งนั้นไม่ผูกพันตนเอง เพราะเป็นบุคคลภายนอกคดี ไม่ได้เป็นคู่ความด้วย ซึ่งถือว่ากระทำไม่ได้เพราะศาลได้ให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้อง เพื่อให้ใช้สิทธิคัดค้านแล้ว แต่ผู้คัดค้านไม่ยอมคัดค้านเข้ามา

ต่อมาภายหลังจะขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่ได้ เพราะศาลไม่ได้ทำผิดขั้นตอนหรือผิดกฎหมายใดๆ

และแม้ผู้คัดค้านจะเป็นบุคคลภายนอกคดีที่ถือว่าคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตามหลักของกฎหมายก็ตาม แต่กรณีนี้เป็นคดีไม่มีข้อพิพาท คือไม่มีคนอื่นเข้ามาในคดี จึงไม่มีคู่ความ มีแค่ตัวผู้ร้องเท่านั้น และเมื่อศาลพิจารณาพร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอนแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์เรียบร้อยแล้ว

ผู้คัดค้านจึงไม่สามารถขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ถูกต้องแล้วได้ หากเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีเรื่องใหม่ต่างหาก