คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6527/2561
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลทำข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้อื่นได้แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่ ส. ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมของ ส. ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 ให้แก่ ถ. มารดาของโจทก์ ย่อมเป็นการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมมาเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง
อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ
โอนสิทธิในทีดิน ส.ป.ก. ให้บุคคลใดได้บ้าง?
การจะยกที่ดินให้เป็นทรัพย์มรดกให้แก่ใครได้นั้น ต้องดูด้วยว่ามีข้อกำหนดห้ามยกที่ดินนั้นหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าในบางครั้งที่ดินนั้นจะเป็นของเจ้ามรดกก็ตาม แต่ก็อาจมีเงื่อนไขที่เป็นข้อกำหนดห้ามการยกหรือโอนที่ดินไว้ด้วย
ซึ่งการที่ได้ที่ดินมาด้วยการรับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นการได้ที่ดินมาโดยมีข้อกำหนดของกฎหมายไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า การจะแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปให้ผู้อื่นนั้นไม่สามารถทำได้
ทั้งนี้เพราะการได้ที่ดินมาเป็นสิทธิของตนเองในลักษณะนี้ จะแตกต่างจากการได้ที่ดินมาโดยทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นการได้สิทธิครอบครอง การซื้อขาย หรือการได้ที่ดินมาโดยพินัยกรรม
การได้ที่ดินมาด้วยการรับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีเจตนาที่ถือเป็นหลักของการให้ที่ดินลักษณะนี้แก่ประชาชน เพื่อต้องการให้ที่ดินแปลงนั้นเป็นพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม ไม่ต้องการให้ที่ดินเหล่านั้นรกร้างว่างเปล่า
ดังนั้นการได้ที่ดินมาด้วยสิทธิชนิดนี้ จึงมีข้อกำหนดที่ถือว่าเป็นข้อยกเว้นการโอน การแบ่งแยกที่ดิน หรือการยกให้มากกว่าการได้ที่ดินมาด้วยวิธีอื่น
ซึ่งการได้ที่ดินมาด้วยการรับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้กำหนดไว้เลยว่า เจ้าของที่ดินที่ได้สิทธิมาด้วยลักษณะนี้จะไม่สามารถยกที่ดินแปลงนี้ให้คนอื่นได้ นอกจากจะเป็นการตกทอดให้แก่ทายาทโดยธรรม ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ลูก สามีหรือภรรยา ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม หรือจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้อง ตามลำดับทายาทที่กฎหมายกำหนด
หรือจะเป็นการโอนไปยังสถาบันเกษตร หรือ ส.ป.ก. เท่านั้น เพราะถือว่าสถาบันนี้เป็นสถาบันของรัฐ ซึ่งอาจนำไปทำประโยชน์อื่นๆ ต่อไปได้
เมื่อมีข้อห้ามกำหนดยกเว้นไว้ชัดเจนแล้วว่า ไม่สามารถยกให้ โอน หรือแบ่งแยกให้กับคนอื่นได้นอกจากทายาทโดยธรรม ดังนั้นเจ้าของที่ดินจะทำพินัยกรรมเผื่อตาย โดยเขียนพินัยกรรมยกให้ที่ดินแปลงนี้ให้แก่คนอื่นไม่ได้
เพราะที่ดินแปลงนี้จะเป็นมรดกตกทอดได้แก่เฉพาะทายาทโดยธรรมของผู้ตายเท่านั้น จะยกให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมไม่ได้ แม้ที่ดินนั้นจะถือว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม
เพราะเข้าข้อกำหนดยกเว้นการได้สิทธิในที่ดินมาโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การเขียนพินัยกรรมโดยยกที่ดินนี้ให้แก่คนอื่นจึงไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดเจน
หากเจ้ามรดกที่เป็นเจ้าของที่ดินได้เขียนพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่คนอื่น ก็ถือว่าการยกที่ดินให้นั้นเป็นโมฆะ ไม่มีผลตามกฎหมาย และถือว่าผู้นั้นไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่ได้รับมานั้น