เป็นแค่ลูกจ้างขายของตามตลาดนัด จะอ้างไม่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ได้หรือไม่?

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2559

เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองเดียวกันว่าจำเลยทั้งสองเป็นเพียงลูกจ้างขายสินค้าให้แก่นายจ้างตามตลาดนัดทั่วไป ไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจของจำเลยทั้งสองเอง จำเลยทั้งสองไม่รู้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

อธิบายกฎหมาย

เป็นแค่ลูกจ้างขายของตามตลาดนัด จะอ้างไม่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ได้หรือไม่?

ตามคำพิพากษาฎีกานี้เป็นกรณีที่ในศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิจารณาและตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งคำว่า “ให้การรับสารภาพตามฟ้อง” ของจำเลยทั้งสองนั้น ตามกฎหมายหมายถึงว่าจำเลยทั้งสองให้การรับผิดตามที่โจทก์ได้บรรยายความผิดของจำเลยตามฟ้องนั่นเอง

โดยกฎหมายตีความไว้แล้วว่า เป็นการหมายถึงจำเลยยอมรับผิดและรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา และไม่ได้แก้ตัวหรือให้การแก้คำฟ้องของโจทก์ให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น

ดังนั้นจึงหมายความว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์จริง ซึ่งศาลสามารถนำคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองนั้นมาประกอบการพิจารณาเพื่อตัดสินลงโทษจำเลยทั้งสองได้

แต่ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่า หากจะอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ก็ต้องแสดงเหตุผลมาด้วยว่าไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นใด และอย่างไร รวมทั้งจะต้องบรรยายให้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่จริงควรเป็นอย่างไร และกฎหมายยังบัญญัติต่อไปอีกด้วยว่า ต้องเป็นเรื่องหรือเป็นประเด็นที่ได้โต้เถียงกัน หรือต้องได้พูดกันมาตั้งแต่ในศาลชั้นต้นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขของกฎหมาย

ดังนั้นหากใครต้องการที่จะอุทธรณ์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วจึงต้องการอุทธรณ์อย่างเดียวไม่ได้

ดังนั้นตามคำพิพากษาฎีกานี้ ในศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ แต่พอมาถึงศาลอุทธรณ์กลับสร้างประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่

โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นเพียงลูกจ้างร้านขายของละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้มีเจตนาที่จะจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ทราบด้วยว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น

ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้ในศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองไม่ได้พูดถึงแต่อย่างใด แต่กลับยอมรับสารภาพตามคำฟ้องโจทก์ทุกประการ

เมื่อข้ออ้างเหล่านี้จำเลยทั้งสองไม่ได้พูดถึงและไม่ได้เป็นประเด็นที่โจทก์และจำเลยโต้เถียงกันมาตั้งแต่ในศาลชั้นต้น กฎหมายจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาก่อนในศาลชั้นต้น

ผลคือจำเลยทั้งสองไม่สามารถอุทธรณ์ข้ออ้างเหล่านี้ต่อศาลอุทธรณ์ได้ เพราะไม่ครบหลักเกณฑ์ที่จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้

ดังนั้นอุทธรณ์ในประเด็นนี้ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองได้