คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5288/2561
ที่จำเลยฎีกาว่า ลายมือชื่อโจทก์ที่มอบอำนาจให้ ค. ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้า ส. และ บ. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อ ส. และ บ. ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองขณะ น. ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705
อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ
พยานลงชื่อในพินัยกรรมภายหลังจากเขียนพินัยกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถือว่าพินัยกรรมใช้ได้หรือไม่?
การทำพินัยกรรมคือการเขียนเรื่องการจัดการมรดกหรือทรัพย์สินต่างๆ ผู้ตายมีอยู่ในขณะยังมีชีวิตอยู่ ถือว่าเป็นการจัดการไว้เผื่อตายนั่นเอง
กฎหมายได้บังคับไว้ว่าในพินัยกรรมที่เขียนเองจะต้องลงลายมือชื่อผู้เขียนพินัยกรรม และยังต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมด้วย พินัยกรรมฉบับนี้จึงจะใช้ได้และสมบูรณ์ตามกฎหมาย
จึงอาจมีข้อสงสัยได้ว่า หากพยานไม่ได้ลงลายมือชื่อหรือไม่ได้อยู่ในขณะที่ผู้เขียนเขียนพินัยกรรมแล้ว แต่มาลงชื่อเป็นพยานในทีหลัง จะถือว่าพินัยกรรมฉบับนี้สมบูรณ์ ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย แล้วจะใช้ในการแบ่งทรัพย์สินให้กับผู้รับพินัยกรรมตามที่ผู้เขียนเขียนไว้ได้หรือไม่
ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้แล้วว่า หากพยานไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมตามที่กฎหมายกำหนด ก็ถือว่าไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้
ดังนั้นจึงเหมือนกับว่าไม่มีการเขียนพินัยกรรมฉบับนั้นเลย ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะเขียนรายละเอียดครบถ้วนถูกต้อง และได้ลงลายมือชื่อของตัวเองไว้แล้วก็ตาม
แต่เมื่อไม่มีพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ก็ถือว่าพินัยกรรมฉบับนั้นตกไป ใช้บังคับไม่ได้
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ การลงลายมือชื่อของพยานในพินัยกรรมภายหลังจากที่ผู้เขียนเขียนพินัยกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ถือว่าไม่มีการลงลายมือชื่อของพยานใน “ขณะ” ทำพินัยกรรม
ซึ่งคำว่า “ในขณะ” ทำพินัยกรรม มีความหมายอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องเป็นการลงลายมือชื่อของพยานในตอนนี้ผู้เขียนกำลังเขียนพินัยกรรม เพราะเจตนาของกฎหมายก็คือ ให้มีผู้รู้เห็นในการทำพินัยกรรมฉบับนั้น
พร้อมทั้งลงลายมือชื่อเพื่อเป็นพยานรับรองการทำพินัยกรรมฉบับนั้น และเป็นการยืนยันด้วยว่าในขณะนี้ผู้เขียนได้ทำพินัยกรรมโดยการเขียนยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ใดนั้น ผู้เขียนยังคงมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ไม่ได้ถูกบังคับ หรือไม่มีสติ
เพราะฉะนั้นการที่ในขณะทำพินัยกรรมพยานไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อภายหลังเมื่อทำพินัยกรรมเสร็จ ไม่ว่าจะลงลายมือชื่อภายหลังช้าแม้แต่วันเดียว หรือหลายวันก็ตาม ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมนั้นสมบูรณ์อยู่ดี
เพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนทำตามเจตนาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเมื่อพยานมาลงลายมือชื่อทีหลัง จึงเหมือนกับว่าพยานไม่ได้อยู่ในขณะที่ผู้เขียนทำพินัยกรรม
จึงขัดต่อเจตนาที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้พยานได้รับรองการลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมโดยแท้จริง และผู้ทำพินัยกรรมยังมีสติครบถ้วนในขณะทำพินัยกรรม
เมื่อในขณะทำพินัยกรรมไม่มีพยานลงลายมือชื่อตั้งแต่แรก แม้จะมาลงลายมือชื่อภายหลัง พินัยกรรมฉบับนั้นก็ไม่สมบูรณ์ เหมือนกับไม่มีการเขียนพินัยกรรมเลย
ดังนั้นหากผู้เขียนพินัยกรรมได้ตายในเวลาต่อมา ทายาทก็ไม่สามารถนำพินัยกรรมฉบับนั้นมาแบ่งแยกทรัพย์สินได้