ต้องชัดเจนขนาดไหน ถึงจะผิดฐานปล่อยให้โคเดินไปตามลำพังและวิ่งขึ้นไปบนทางจราจรโดยมิได้ควบคุมดูแล

พ.ร.บ.จราจรทางบก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2556

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 ซึ่งบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวบัญญัติในทำนองเดียวกันว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นผู้ที่ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์บนทางหรือทางจราจร โดยไม่มีบทสันนิษฐานให้ถือว่าเจ้าของสัตว์เป็นผู้กระทำความผิด หรือบัญญัติให้เจ้าของสัตว์จะต้องรับผิดตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว แม้จะมิได้เป็นผู้ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อยหรือเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเองก็ตาม ดังนี้ นอกจากโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าของโคตัวที่ก่อเหตุแล้ว โจทก์ยังต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ควบคุมดูแลโคตัวดังกล่าวและปล่อยให้วิ่งขึ้นไปบนทางจราจรหรือจำเลยปล่อยให้โคเดินไปตามลำพังและวิ่งขึ้นไปบนทางจราจรโดยจำเลยมิได้ควบคุมดูแลหรือมอบหมายให้บุคคลใดช่วยควบคุมดูแล แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลโคในขณะเกิดเหตุอย่างไร และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า มีบุคคลอื่นควบคุมดูแลโคแทนจำเลยหรือจำเลยมิได้ควบคุมดูแลโคของตนเองแต่ปล่อยให้โคเดินไปตามลำพังไปรวมกับฝูงโคของบุคคลอื่น พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอให้รับฟังว่า จำเลยเป็นผู้ที่ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์ บนทางหรือทางจราจรอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

ต้องชัดเจนขนาดไหน ถึงจะผิดฐานปล่อยให้โคเดินไปตามลำพังและวิ่งขึ้นไปบนทางจราจรโดยมิได้ควบคุมดูแล

จากที่มีให้เห็นกันได้บ่อยครั้ง กรณีที่มีการปล่อยวัว โค กระบือ ขึ้นมาเดินบนถนนในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งบางครั้งก็เป็นถนนหนทางที่ไม่ใช่ถนนสายเล็กๆ แต่เป็นถนนสายหลักที่มีรถและการจราจรแน่นหนา

จึงมีปัญหาตามมาว่า แล้วใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จากการที่วัวขึ้นมาเดินบนท้องถนน จนทำให้เกิดการจราจรติดขัด หรือในบางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุบนถนนอันเนื่องมาจากวัวที่ขึ้นมาเดินบนถนนนั้นได้

ตามกฎหมายได้บัญญัติไว้แล้วตาม พรบ.ทางหลวงฯ ประกอบกับ พรบ.จราจรทางบก ฯ โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้กำหนดหลักเกณฑ์ในทำนองเดียวกันไว้ว่า ผู้ที่กระทำความผิดในการปล่อยให้สัตว์ขึ้นมาเดินอยู่บนถนนนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์บนทางหรือทางจราจร

โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไม่ได้กำหนดข้อสันนิษฐานให้ถือว่าเจ้าของสัตว์เป็นผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด

ดังนั้นโจทก์หรือผู้ที่ฟ้องร้องจึงต้องมีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นถึงการกระทำความผิดของการที่โค วัว ขึ้นมาบนท้องถนนอย่างชัดเจน หากไม่สามารถสืบให้ศาลเห็นได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยการที่ปล่อยให้สัตว์ขึ้นมาเดินอยู่บนถนนนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์บนทางหรือทางจราจร

พูดง่ายๆ คือจะต้องมีการกระทำเหล่านี้ให้ศาลเห็นได้อย่างชัดเจน โจทก์หรือผู้ที่ฟ้องร้องจะสืบเพียงให้ศาลเห็นว่ามีโคหรือวัวขึ้นมาเดินบนถนน โดยไม่พบผู้กระทำความผิด รู้เพียงเจ้าของวัวหรือสัตว์เท่านั้นไม่ได้

เพราะเป็นการสืบที่ศาลยังไม่เห็นถึงการกระทำความผิดในการที่มีคนปล่อย จูง ขี่ ลาก หรือเลี้ยงสัตว์บนทางหรือถนนนั้นเลย เรียกง่ายๆ ก็คือ หากทำให้ศาลเห็นไม่ได้ว่ามีการกระทำดังกล่าว เพียงแค่สัตว์เดินมาเอง คนที่เป็นเจ้าของสัตว์นั้นก็ไม่มีความผิดตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด

และตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า กฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติถึงข้อสันนิษฐานที่กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องรับผิดชอบจากการที่สัตว์เหล่านั้นขึ้นมาเดินบนท้องถนน ดังนั้นหากโจทก์หรือผู้ฟ้องร้องไม่สามารถสืบให้ศาลเห็นได้ถึงคนที่ทำความผิดตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่ต้องรับผิด

สรุปก็คือ ต้องมีความชัดเจนอย่างมากสำหรับการฟ้องร้องเอาผิดแก่คนที่ปล่อยให้สัตว์ขึ้นมาเดินบนท้องถนน จะสืบให้ศาลเห็นแต่เพียงว่าคนนั้นคนนี้เป็นเจ้าของเพียงอย่างเดียวไม่ได้

จะต้องมีความชัดเจนเพียงพอในการสืบให้ศาลเห็นว่าบุคคลเหล่านั้นได้ ลาก ขี่ จูง หรือเลี้ยงสัตว์บนทางหรือถนนนั้นๆ ด้วย บุคคลเหล่านั้นจึงจะมีความผิดและต้องรับโทษพร้อมกับชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั่นเอง