นาย ก. กับนาง ข. หย่ากัน ต่อมานาย ก. โอนที่ดินให้นาง ค. แต่นาง ข.ฟ้องศาลให้พิสูจน์ ศาลพิสูจน์แล้วเป็นสินส่วนตัว แบบนี้นิติกรรมของนาง ค.เป็นโมฆะหรือไม่?

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2561

แม้คดีจะฟังว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของ น. มิใช่สินสมรสตามที่ผู้ร้องสอดยกขึ้นต่อสู้ก็ตาม น. ก็มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วน และยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของ น. ให้แก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ดังนั้น การที่ น. ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่จำเลย จึงเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ส่วนการที่ น. และจำเลยแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าใช้จ่ายในการโอนก็เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่หน่วยงานราชการจะต้องไปดำเนินการเรียกเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องต่อไป

อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ

นาย ก กับ นาง ข หย่ากัน ต่อมา นาย ก โอนที่ดินให้ นาย ค แต่ นาง ข ฟ้องศาลให้พิสูจน์ ศาลพิสูจน์แล้วเป็นสินส่วนตัว แบบนี้นิติกรรมของ นาง ค เป็นโมฆะหรือไม่?

กรณีที่คู่สามีภรรยามีการจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย ผลก็คือได้เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และส่งผลต่อการจัดการทรัพย์สิน รวมไปถึงผลทางกฎหมายอื่นๆ ที่ตามมาด้วย เช่น

รายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสอยู่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝั่งสามีหรือภรรยาก็ตาม รายได้ที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นสินสมรส แสดงว่าทั้งสามีและภรรยามีส่วนในรายได้นั้นคนละครึ่ง

หรือจะเป็นเงินเดือน ไม่ว่าจะเป็นทั้งของสามีหรือภรรยาก็ตาม ก็ถือว่าเป็นสินสมรส ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง หรือจะเป็นรายได้หรือทรัพย์สินอะไรก็ตามที่ได้มาในระหว่างสมรสอยู่ ทรัพย์สินนั้นๆ ทั้งสามีหรือภรรยาก็ถือว่ามีส่วนในทรัพย์สินนั้นคนละครึ่ง

กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นเรื่องที่สามีและภรรยาได้หย่าขาดจากกัน จากนั้นสามีได้ทำการโอนที่ดินให้แก่บุคคลที่ 3  จากนั้นอดีตภรรยาได้ฟ้องต่อศาลขอให้พิสูจน์ว่าที่ดินนั้นเป็นสินสมรส เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส และตนเองก็มีส่วนในทรัพย์สินนั้นครึ่งหนึ่ง

แต่เมื่อศาลพิสูจน์พิจารณาและตัดสินแล้วว่า ที่ดินนั้นเป็นสินส่วนตัวของอดีตสามี การโอนที่ดินระหว่างอดีตสามีและบุคคลที่ 3 จะเป็นอย่างไร

ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้ชัดเจนแล้วว่า เมื่อศาลตัดสินแล้วว่าที่ดินนั้นเป็นสินส่วนตัวของสามี ดังนั้นสามีจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมทั้งยังมีสิทธิเต็มที่ในการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นการมอบให้บุคคลที่ 3 หรือ นาง ค ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนตัวเอง หรือจนกระทั่งยกที่ดินนั้นให้แก่ นาง ค ก็ตาม นาย ก ก็สามารถกระทำได้ เพราะเมื่อที่ดินนั้นเป็นสินส่วนตัวของตัวเอง นาย ก จึงมีสิทธิเต็มที่ในการจัดการที่ดินนั้น

ดังนั้นการยกที่ดินของ นาย ก ให้แก่ นาง ค จึงถือว่าเป็นสิทธิที่ นาย ก จะทำได้ เนื่องจากไม่ใช่สินสมรส นาง ข จึงไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นกึ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถเรียกร้องให้ นาย ก แบ่งที่ดินนั้นให้แก่ตัวเองได้

เมื่อต่อมา นาย ก ยกที่ดินให้แก่คนอื่น นาง ข ก็ไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะเรียกร้องเอาจาก นาย ก ได้ เพราะที่ดินนั้นไม่ใช่สินสมรสนั่นเอง

ส่วนการที่ นาง ข จะอ้างว่า นาย ก และ นาง ค ได้แจ้งข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความจริงให้กับเจ้าหน้าที่ที่ดิน เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ เกี่ยวกับที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย

ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจฟ้องร้องเอาผิดกับ นาย ก และ นาง ค ในกรณีนี้ได้ก็คือรัฐเท่านั้น นาง ข จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในประเด็นนี้ ผลก็คือ นาง ข ไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้นั่นเอง