คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2561
คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรง เป็นประเด็นเดียวกันว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ก. กับพันเอก ก. ดังนี้ เมื่อคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาโดยคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. และคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทและศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่โจทก์บรรยายฟ้อง และคู่ความนำสืบกับจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้ขณะยื่นฟ้อง ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. แม้ต่อมาพันเอก ก. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงก็ไม่มีส่วนใดเป็นทรัพย์มรดกของพันเอก ก. ซึ่งตกทอดแก่โจทก์ การที่ ก. ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่ละแปลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางแปลงที่ตนได้รับให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเช่นกัน จึงเป็นสิทธิโดยชอบของ ก. และจำเลยที่ 4
อธิบายกฎหมายแบบบ้านๆ
ตามกฎหมายแล้วอาจมีกรณีที่คู่ความฟ้องร้องกันทั้งทางอาญาที่มีโทษทางกฎหมายคือปรับ จำคุก หรือกักขัง และเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกันไปได้
ในกรณีเช่นนี้กฎหมายบังคับเป็นบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจนเลยว่า เมื่อมีกรณีคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นความกันแล้ว ศาลจะต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงที่ถูกตัดสินไว้ตามคดีอาญา มายึดถือเป็นข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกันนั้น
คำว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติ” ตามที่ศาลใช้นั้น หมายถึงว่าคู่ความไม่สามารถจะอ้างว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่ตามที่ศาลคดีส่วนอาญาตัดสินได้ เรียกได้ว่าปิดปากตามบทบัญญัติของกฎหมายนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกรณีที่คู่ความฟ้องร้องกันนั้น ต้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาด้วย และประเด็นหรือข้อเท็จจริงในคดีแพ่งก็ต้องเป็นประเด็น “โดยตรง” ในคดีอาญาด้วย หากไม่เกี่ยวข้องกันก็หลุดพ้นจากบทบัญญัติของกฎหมาย คือไม่ต้องยึดถือข้อเท็จจริงตามคดีส่วนอาญา
ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจน เช่น กรณีเรื่องละเมิด จำเลยขับรถชนโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน เป็นกรณีที่กฎหมายเรียกว่า “คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา”
คือจำเลยมีความผิดทั้งในทางอาญา คืออาจถูกศาลตัดสินให้ได้รับโทษทางอาญา ไม่ว่าจะถูกปรับ จำคุก กักขัง หรือโทษทางอาญาอื่นๆ ก็ตาม และยังเกี่ยวพันเป็นคดีแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยขับรถชนนั่นเอง
โดยข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยขับรถมาอย่างไร ประมาทหรือไม่ และชนผู้เสียหายอย่างไร ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้เกิดรถชนหรือเกิดเหตุละเมิดตามที่กฎหมายเรียก
เมื่อเป็นคดีอาญาที่มีการตัดสินโดยคำพิพากษาของศาล และคำพิพากษานั้นถึงที่สุด คู่ความไม่อุทธรณ์หรือโต้เถียงกันอีกต่อไปแล้ว เมื่อนำคดีมาฟ้องร้องเรียกเงินหรือค่าเสียหายในส่วนแพ่งอีกครั้ง
คู่ความก็จะต้องยึดถือข้อเท็จจริงตามคดีส่วนอาญา ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติบังคับศาลเช่นเดียวกันว่า ศาลจำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา เรียกได้ว่าศาลส่วนแพ่งไม่ต้องสืบข้อเท็จจริงใหม่เลย เพียงแค่ยึดถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญามาตัดสินเป็นคดีส่วนแพ่งก็เป็นการเพียงพอแล้ว
ดังนั้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2561 กรณีที่ศาลในคดีส่วนอาญาได้ตัดสินแล้วว่าทรัพย์สินเป็นของใคร เมื่อนำคดีมาฟ้องกันในส่วนแพ่งอีก ศาลก็จะต้องเอาข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญามาผูกยึดเป็นข้อเท็จจริงในส่วนแพ่ง คู่ความไม่สามารถโต้เถียงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น
หรือแม้แต่คู่ความจะขอนำสืบพยานให้ศาลในส่วนแพ่งเห็นเป็นอย่างอื่นได้อีกต่อไป เพราะศาลต้องยึดถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา หรือที่เรียกว่าคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั่นเอง