ติดคุกความผิดยาเสพติด ระหว่างติดคุกผิดนำของต้องห้ามเข้าเรือนจำอีก 1 กระทง แต่ต่อมาศาลตัดสินไม่ผิดคดียาเสพติด แล้วความผิดที่ 2 ยังอยู่หรือไม่?

กฏหมายยาเสพติด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2351/2562

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ ศาลชั้นต้นรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดคงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเช่นกัน แต่กรณีที่มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา กรณีถือว่าฎีกาของจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว สำหรับความผิดฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำซึ่งมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 8 เดือน อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และความผิดฐานนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 ก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดจึงให้ยกฟ้องปล่อยจำเลยไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225

อธิบายกฎหมาย

ติดคุกความผิดยาเสพติด ระหว่างติดคุกผิดนำของต้องห้ามเข้าเรือนจำอีก 1 กระทง แต่ต่อมาศาลตัดสินไม่ผิดคดียาเสพติด แล้วความผิดที่สองยังอยู่หรือไม่?

ตามคำพิพากษาฎีกานี้เป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้อง 3 ข้อหาด้วยกัน คือ ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ข้อหาที่ 2 ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และข้อหาที่ 3 ฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ

ศาลชั้นต้นตัดสินว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องทั้ง 3 ข้อหา ต่อมามีการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดรับฟังว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องทั้ง 3 ข้อหาเช่นกัน แต่เห็นว่ามีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลย จึงให้ลดโทษลงกระทงละ 1 ใน 3

ต่อมาจำเลยฎีกา โดยหากเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าจำเลยอาจยื่นฎีกาได้หากได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ดังนั้นกรณีนี้เป็นเรื่องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเมื่อจำเลยขออนุญาตฎีกา และได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จึงสามารถยื่นฎีกาต่อศาลได้นั่นเอง

ซึ่งเป็นการยื่นฎีกาที่ต่างจากคดีอื่นๆ ที่ไม่ใช่คดียาเสพติด ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นการยื่นฎีกาที่ได้รับการอนุญาตเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

เมื่อคดีมาถึงศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องใน 2 ข้อหาแรก คือเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและไม่ได้ทำผิดข้อหาร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงให้ยกฟ้องทั้งสองข้อหานี้

ส่วนข้อหาร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำนั้น ไม่ใช่ข้อหาที่เป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี แต่ศาลอุทธรณ์เห็นควรลดโทษให้จำเลยลงเหลือจำคุก 8 เดือน ตามกฎหมายจึงถือว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่วางเป็นหลักไว้ว่าคู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

แต่ศาลฎีกาเห็นว่าทั้ง 3 ข้อหาอยู่ในคดีเดียวกัน และเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน ถึงแม้ว่าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายจะต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อหานี้ก็ตาม ศาลฎีกาก็สามารถพิจารณาและตัดสินให้ข้อหานี้เสร็จเรียบร้อยไปได้

เพราะศาลฎีกาเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาจึงพิพากษายกฟ้องตัดสินว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดไปได้

ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นการยกเว้นหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการลงโทษจำเลยและเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากเหตุของการกระทำเดียวกัน ดังนั้นศาลฎีกาจึงตัดสินเพื่อให้คดีเสร็จเรียบร้อยไปในคราวเดียวกันได้นั่นเอง